ส่องหลักเกณฑ์ตั้ง กต.ตร.จังหวัด

View icon 1
วันที่ 18 ก.ย. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - มาตามกันต่อกับอีกหนึ่งประเด็น ชวนสังคมช็อก เมื่อรู้ว่า กำนันนก เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศาสนา หรือ วัฒนธรรม ของ กต.ตร.จังหวัดนครปฐม เมื่อมีการออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เรื่องนี้มีแง่มุมอะไรชวนสังคมคิดบ้าง

การเปิดเผยคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ จังหวัดนครปฐม ให้นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศาสนา หรือวัฒนธรรม พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกดำเนินคดีฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ลงวันที่ 11 กันยายน 2566

เกิดคำถามทันทีสองประเด็น อย่างแรกเลยคือ เรื่องราวสะเทือนขวัญ ที่ทำให้ผู้คนโกรธกันทั้งสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน กำนันนก เข้ามอบตัวและถูกตั้งข้อหาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน แต่คำสั่งปลดจากตำแหน่ง เพิ่งออกมาในวันที่ 11 กันยายน ความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องช้าไปหน่อยหรือเปล่า

ตามติดมาด้วยคำถามดัง ๆ ว่า กำนันนก มีคุณสมบัติอะไรเหมาะสมไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศาสนาหรือ วัฒนธรรม ของตำรวจจังหวัดนครปฐม

ขณะที่ความเห็นจาก เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ฯ มองว่า กต.ตร. (คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ) เป็นคณะกรรมการลวงโลก หลอกลวงประชาชนตลอดมา เพราะแม้ชื่อจะบอกว่าเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของตำรวจ แต่ในรายละเอียดตั้งแต่การแต่งตั้งไปจนถึงการเลือกคนเข้ามาเป็นกรรมการฯ ตำรวจก็มีหน้าที่เลือกสรรกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีหน้ามีตาในพื้นที่ ดังนั้นหากจะให้การตรวจสอบงานตำรวจมีคุณภาพจริง คนที่เข้าไปตรวจสอบต้องไม่ใช่ตำรวจ ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำมาพูดถึงในงานเสวนาปฏิรูปตำรวจ กู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว ที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ด้วย ทีมข่าวของเรามีสัมภาษณ์เพิ่มเติมมาด้วย ท่านว่าอย่างไร

สำหรับ กต.ตร.มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ คำถามต่อจากนี้คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเข้าไปตรวจสอบอย่างไร ไม่ให้คณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นมาบนหลักคิดให้เกิดความร่วมมือระหว่างตำรวจกับประชาชน กลายเป็นที่รองรับนักธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพล ให้ไปมีบทบาทครอบงำตำรวจในพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้