สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดนราธิวาส

View icon 285
วันที่ 18 ก.ย. 2566
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 10.20 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปงานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 46 ประจำปี 2566 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 กันยายนนี้ ประกอบด้วยงานวันลองกอง, งานประชันนกเขาชวาเสียง, งานศิลปาชีพและงานกระจูด รวมทั้งงานแข่งขันเรือกอและเรือยอกอง และเรือคชสีห์ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โอกาสนี้ พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ลองกอง ทุเรียนหมอนทอง สะตอข้าว, การประกวดและการแข่งขันผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เชิงสร้างสรรค์ และพระราชทานรางวัลแก่เจ้าของนกเขาชวา ที่ชนะการแข่งขันประเภทเสียงใหญ่ เสียงกลาง เสียงเล็ก และดาวรุ่ง เสียงละ 11 รางวัล

โอกาสนี้ ทรงฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2566 เน้นการต่อยอดองค์ความรู้ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้จัดทำโครงการทั้งด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมพัฒนาอาชีพ นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนการบริหารผลผลิตทางการเกษตรคือ การจัดทำศูนย์จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร 2 แห่ง คือ ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ และที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
 
จากนััน ทอดพระเนตรผลงานวิชาการของส่วนราชการต่าง ๆ ในงานของดีเมืองนรา งานวันลองกอง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "เกษตรนรา 9 เสริมสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรม น้อมนำแนวพระราชดำริ สู่ก้าวย่างอย่างยั่งยืน" อาทิ กรมชลประทาน จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "สืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 17 ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ ได้เพียงพอตลอดทั้งปี รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ นำเสนอความสำเร็จของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับกรมชลประทาน สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2567 และเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อจัดการน้ำชลประทาน ในแปลงเพาะปลูกอย่างแม่นยำ โดยสถานีทดลองการใช้ชลประทานที่ 7 ปัตตานี นอกจากนี้ จัดแสดงผลงานของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อาทิ ผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่, ปาล์มน้ำมัน, ปลาส้ม กรมวิชาการเกษตร จัดแสดงเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มือปราบโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน ซึ่งพบครั้งแรกเมื่อปี 2544 ที่บ้านโคกภูตากา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ต่อมาในปี 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อเห็ด ซึ่งเป็นเห็ดพิษ มีประสิทธิภาพสูง สามารถทดแทนการใช้สารเคมี และลดต้นทุนในการผลิตพืช

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดแสดงพื้นที่อนุรักษ์ในจังหวัดนราธิวาส ที่สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา, อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว - เขาตันหยง และอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี ที่ต่างมีความโดดเด่นเรื่องสภาพพื้นที่ ทัศนียภาพ ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า รวมทั้งจัดแสดงพันธุ์ไม้สำคัญ และกล้วยไม้ป่าในป่าพรุโต๊ะแดง 28 ชนิด, กิจกรรมครูป่าไม้ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านลีนานนท์, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านไอร์บือแต, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสังวาลย์วิท 4, ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภักดี, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอ ที่ปรับการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตรงกับความต้องการของเยาวชน นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

พร้อมกันนี้ ทอดพระเนตรการแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและงานกระจูด ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "สืบสานพระราชปณิธาน ศิลปาชีพสร้างคุณค่า นรายั่งยืน" ที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ รวมถึงการสาธิตผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ 9 ประเภท และการประกวด 7 ประเภท อาทิ การประกวดผลิตภัณฑ์ซองกระจูด การประกวดผลิตภัณฑ์กล่องใบลาน การประกวดผลิตภัณฑ์ตูมูปาหนัน การแข่งขันผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ และการแข่งขันสานเสื่อกระจูด เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวนราธิวาส

เวลา 17.36 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประชุม 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานศูนย์สาขาที่ 1 โครงการสวนยางพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บ้านเขาตันหยง หมู่ที่ 4 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ศูนย์วิจัยยางสงขลา จัดทำสวนตัวอย่างปลูกยางพันธุ์ดี ภายในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อปี 2518 เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างการปลูกยางพันธุ์ดี การปลูกพืชแซมยาง และการบริหารจัดการสวนยางที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกร และผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ บนเนื้อที่ 19.65 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่โครงการฯ ปลูกยางพาราสายพันธุ์ดี 5 พันธุ์ จำนวน 5 แปลง รวม 12.93 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่งานปศุสัตว์, พื้นที่ปลูกไม้ดอกและลองกอง, พื้นที่ป่าไม้ และส่วนที่เป็นอาคาร สถานที่ราชการ ถนน แหล่งน้ำ โดยปี 2527 มีพระราชดำริให้เป็นศูนย์สาขาที่ 1 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ

ปัจจุบัน ต้นยางพารามีอายุ 46 ปี อายุการกรีดยางนานกว่า 39 ปี ผลผลิตน้ำยางแห้งลดลง พบการระบาดของโรครากขาวยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายระบบราก ส่งผลให้ต้นยางยืนต้นตาย 329 ต้น คิดเป็นร้อยละ 27 โดยพันธุ์ยางที่มีอัตราการรอดดีที่สุด คือ ยางพันธุ์ PB5/51 เนื่องจากมีระบบรากแข็งแรง ต้นเจริญเติบโตได้ดี และทนทานต่อโรค สำนักงาน กปร. จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ, กรมวิชาการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาสวนยางพระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ โดยปรับปรุงและพัฒนาสวนยางเดิม ให้เป็นแหล่งเก็บรักษาอนุรักษ์พันธุ์ยาง แหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านระบบนิเวศ และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ส่วนโครงการขยายผลสวนยางเขาสำนักในพื้นที่ของศูนย์ฯ เนื้อที่ 20 ไร่ ดำเนินการเป็นแหล่งผลิตกล้ายางพันธุ์ดี รักษาพันธุกรรมยางหายาก เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศสวนยาง จัดทำแปลงสาธิต และแปลงผลิตต้นพันธุ์เพื่อการค้า ให้การดำเนินงานสอดคล้องกับสถานการณ์การยางในปัจจุบันและอนาคต

ข่าวอื่นในหมวด