อว. ยุคใหม่ ลดภาระ นักศึกษา ผู้ปกครอง และ อาจารย์ผู้สอน

อว. ยุคใหม่ ลดภาระ นักศึกษา ผู้ปกครอง และ อาจารย์ผู้สอน

View icon 101
วันที่ 19 ก.ย. 2566 | 15.49 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ผึ้ง ศุภมาส” เดินหน้า อว. ยุคใหม่ ลดภาระ นักศึกษา ผู้ปกครอง และ อาจารย์ผู้สอน  ย้ำ “วิจัย-นวัตกรรม” ต้องตอบโจทย์ ตรงความต้องการ เน้น "เอกชนนำ รัฐสนับสนุน"      

วันนี้ (19 ก.ย.66 ) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  มอบนโยบายการทำงานต่อผู้บริหารกระทรวง ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง หัวใจสำคัญ คือ การลดภาระของนักศึกษา ผู้ปกครอง อาจารย์ผู้สอน เช่น จัดให้มีแพลตฟอร์มเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ ลดค่าใช้จ่าย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น (Non-Degree) รวมถึงการจัดทำระบบวัดผลทักษะตามมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate), เพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียนเรียนตามความต้องการ สามารถลงทะเบียนโดยไม่จำกัดจำนวนหน่วยกิตในแต่ละภาคการศึกษา  พร้อมสนับสนุนให้มีรายได้ระหว่างเรียน หรือ “ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย” ในส่วนการลดภาระอาจารย์ผู้สอน จะมีการปรับการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ โดยเพิ่มน้ำหนักการประเมินเรื่องความสามารถและความสำเร็จของนักศึกษานอกเหนือจากความสามารถทางวิชาการ รวมถึงกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในแต่ละขั้นตอน

น.ส.ศุภมาส กล่าวด้วยว่า นโยบายมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ จะเน้นหลักการสำคัญ คือ "เอกชนนำ รัฐสนับสนุน" โดยให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์ เป็นผู้กำหนดทิศทางว่า ควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ของ อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ใช้ความต้องการเป็นตัวนำ (market-driven) พร้อมปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ นอกจากนี้ อว. จะมุ่งส่งเสริมการสร้าง และสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ตอัป SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่

ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ อว. ต้องทำทันที คือ การนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของประชาชน เช่น การจัดการน้ำชุมชน การจัดการภัยแล้ง การจัดการปัญหาหมอกควัน PM 2.5 Go Green และ นวัตกรรมแก้จน เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)