เวลา 10.05 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทรงเปิด "ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา" ซึ่งได้ปรับปรุงอาคารเรียนไม้หลังเก่า เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของโรงเรียนฯ เมื่อปี 2563 ให้เป็นอาคาร One Stop Service โดยได้รับงบประมาณจากผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ผู้มีจิตศรัทธา และประชาชน แล้วเสร็จเมื่อปี 2565
โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งด้านการศึกษาวิจัย ด้านการศึกษา และพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดยะลา และอำเภอเบตง ในปี 2502, 2515 และ 2518 รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองเศรษฐกิจพอเพียง และโคกหนองนาโมเดล ส่วนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพื้นที่อำเภอเบตง โดยทรงเคยได้รับการถวายรายงานการรับรองพันธุ์สัตว์ไก่เบตงและไก่เหลือง Wuding เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ พร้อมทั้งทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในโครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
นอกจากนี้ ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าโอทอปของนักเรียน และชาวบ้านในอำเภอเบตงและใกล้เคียง อาทิ ผลิตภัณฑ์จากผ้าลายเบตง ซึ่งเป็นลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอ โดยเป็นลายผสมผสานระหว่างต้นไผ่และดอกไผ่ตามความเชื่อของชาวจีน ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้า ความสง่า มีปัญญาเลิศ เช่น ชุดเบตงรวมใจ ที่รวม 3 เชื้อชาติ คือ ไทย จีน มุสลิม, เสื้อ, ร่ม และกระเป๋า รวมทั้ง กระเป๋ากระจูด ทุเรียนกวน กล้วยเส้นทรงเครื่อง หมี่เหลืองเบตง และร้านกาแฟของโรงเรียนฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้นักเรียน
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานนักเรียนที่ได้บูรณาการวิชาต่าง ๆ เข้ากับความรู้ด้านศาสตร์พระราชา ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ อาทิ การทำโรตีกรอบ ที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีทักษะอาชีพ และมีรายได้ระหว่างเรียน จนได้รับรางวัลชนะเลิศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงาน และการประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ประจำปี 2563 จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3, การทำกระเป๋าผ้าลายของดีเบตง อาทิ ลายตู้ไปรษณีย์ ส้มโชกุน และไก่เบตง, การทำมินิบุ๊ก ถ่ายทอดความรู้สึกของนักเรียนต่อหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, กิจกรรมครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน ที่ส่งเสริมให้นำความรู้ด้านการเกษตรไปใช้ในครัวเรือน จนได้รับรางวัลนักเรียนต้นแบบด้านการเกษตรดีเด่น กิจกรรมครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน ประจำปี 2564 จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้
เวลา 13.31 น. เสด็จพระราชดำเนินไปห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อําเภอเมือง จังหวัดยะลา พระราชทานเกียรติบัตรและเข็มที่ระลึกแก่ผู้มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในรอบปีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2563-2565 จำนวน 57 ราย ในจำนวนนี้ มีพระภิกษุ 2 รูป ซึ่ง ศอ.บต. คัดเลือก เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชน ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางราชการ และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จนมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์และเป็นผลดีต่อทางราชการและประชาชน
จากนั้น พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้ชนะการประกวดการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริฯ ดีเด่นในระดับจังหวัด ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทุนวรเกษตรเมธี) ปี 2566 จำนวน 10 คน ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ ที่ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมขยายผลโครงการอาหารกลางวัน "ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน" คัดเลือกนักเรียนที่รักการเรียนรู้การทำเกษตร แล้วทำต่อเนื่องที่บ้านจนประสบผลสำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชน
ในการนี้ ได้มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการที่ ศอ.บต.ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ "ครัวโรงเรียน สู่ครัวบ้าน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยตั้งแต่ปี 2560-2566 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 41 โรงเรียน มีนักเรียนเครือข่ายเข้าร่วมโครงการ และเป็นนักเรียนเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล นักเรียนต้นแบบด้านการเกษตร 49 คน โดยนักเรียนที่ยังอยู่ร่วมโครงการ จะได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ปีละ 20,000 บาท นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา สาขาเกษตรในสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่ง ศอ.บต. ลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับนักเรียนต้นแบบด้านการเกษตร เข้าศึกษาในคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดสรรทุนการศึกษาให้ปีละ 40,000 บาท โดยได้พระราชทานชื่อทุนว่า "วรเกษตรเมธี" เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักเรียนทุนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนต้นแบบ มีโอกาสบรรจุเข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการ "เก้าอี้ สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสนับสนุนงบประมาณส่งมอบอุปกรณ์ให้กับเด็กพิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกพัฒนาการให้เด็กพิการสามารถเดินได้ และมีกายอุปกรณ์ครบถ้วนและเพียงพอ ระหว่างปี 2560-2566 สนับสนุนอุปกรณ์ไปแล้ว 1,089 ราย พบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ
โครงการ "การแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ หรือบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร" ได้สำรวจและตรวจ DNA คนไทยไร้สัญชาติที่ตกหล่นในจังหวัดชายแดนใต้ และประเทศมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ให้สามารถเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ และการบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐอย่างเท่าเทียมกับประชาชนที่มีสัญชาติไทย นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียม ในปี 2560-2566 ช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย 353 คน และคนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,018 คน
การสอนภาษาไทยของคนสยามในรัฐกลันตัน ศอ.บต. ร่วมกับมูลนิธิพระวิเชียรโมลี (แฉล้ม เขมปญโญ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการเรียนการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชนมาเลเซีย เชื้อสายไทย ในรัฐกลันตัน เประ เปอร์ลิส เคดาห์ และตรังกานู โดยจัดทำโครงการ อาทิ โครงการฝึกอบรมสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนธำรงพระพุทธศาสนาในรัฐกลันตัน, กิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจภาษาไทย-ภาษาถิ่น ในวิถีวัฒนธรรมตามบริบทของพื้นที่ ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนมีความรู้ความเข้าใจการใช้ภาษาไทย-ภาษาถิ่น ได้อย่างถูกต้อง โดยผลิตหนังสือคู่มือการเรียนการสอนภาษาไทย 6 วิชา ได้แก่ วิชาไวยากรณ์ไทย วิชาวัฒนธรรมไทย วิชาภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา วิชาทักษะภาษาไทย วิชาส่งเสริมคุณภาพชีวิต และวิชาการอ่านออกเสียงและสนทนาภาษาไทย
การขยายพันธุ์และเก็บรักษาพันธุกรรมกาแฟโรบัสต้าพื้นเมืองภาคใต้ ได้ขยายพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา รวม 30,154 ต้น คิดเป็น 760 ไร่ ประสานภาคธุรกิจรับซื้อผลผลิต ซึ่งปี 2566 รับซื้อผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชน 200 กิโลกรัม โดยเปิดร้าน Café amazon สาขา ศอ.บต. ส่งผลให้ศอ.บต. สำนักงานเกษตร อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ประจำปี 2566