คัดกรองอาการตาพร่องสีเพื่อเตรียมความพร้อมทางการศึกษาแก่เด็ก

คัดกรองอาการตาพร่องสีเพื่อเตรียมความพร้อมทางการศึกษาแก่เด็ก

View icon 36
วันที่ 21 ก.ย. 2566 | 14.40 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ประเด็นหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญ คือ เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาควรมีการคัดกรองอาการตาบอดสีหรือตาพร่องสี เด็กที่ไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหาเรื่องตาบอดสีหรือตาพร่องสีนำไปสู่ปัญหาการวางแผนการศึกษาต่อและประกอบอาชีพบางประเภทการสูญเสียโอกาสและเวลา ซึ่งมีผลต่อความคาดหวังและจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษา

จากข้อมูลคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาการตาบอดสี ผู้ที่มีอาการตาพร่องสีจะมองเห็นสีไม่เหมือนคนปกติ อุบัติการณ์พบในผู้ชายร้อยละ 7.5 – 8.0 และพบในผู้หญิงร้อยละ 0.5   ส่วนใหญ่เป็นตาพร่องสีแดงและสีเขียว ส่วนน้อยเป็นตาพร่องสีน้ำเงิน ตาพร่องสีทุกสี คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 33,000 ซึ่งถือว่าพบน้อยมาก

“ข้อจำกัดต่อการศึกษาและประกอบอาชีพบางประเภท” ผู้ที่มีอาการตาบอดสีมีข้อจำกัดในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการมองเห็นสีหลัก เช่น นักบิน ทหาร ตำรวจ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ วิศวกร สถาปนิก ช่างไฟฟ้า คนขับรถขนส่งสาธารณะ เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ รวมทั้งอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะสี เป็นต้น

แนวทางที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเสนอคือ กระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยคัดกรองหาเด็กที่มีอาการตาบอดสีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ครูตรวจภาวะเบื้องต้นโดยใช้สมุดทดสอบตาบอดสี ISHIHARA’s Test  โดยครูให้เด็กนักเรียนอ่านแผ่นทดสอบ ถ้าเด็กนักเรียนอ่านถูกน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะส่งไปตรวจกับจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัด ทั้งนี้ข้อมูลตาบอดสีถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลให้รู้แต่ผู้ปกครองและตัวเด็กนักเรียน พร้อมแนะแนวทางการศึกษาที่เหมาะสมแก่เด็ก แบบบันทึกการทดสอบการมองเห็นสีเสนอให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดทำให้

“เด็กไทยมีปัญหาสายตาสูงกว่าประมาณการขององค์การอนามัยโลก” สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัยระบุว่าสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของสภาวะตาบอด ตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นสาเหตุสําคัญ และเป็นปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มประชากรเด็กไทยอายุ 1 ถึง 14 ปี โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิเฉพาะกลุ่ม ประชากรวัยเด็กอายุ 1-14 ปี จํานวน 2,743 ราย ภายใต้โครงการสํารวจสภาวะตาบอด สายตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย พ.ศ. 2545-2550 ซึ่งเก็บตัวอย่างในพื้นที่ 22 จังหวัด พบว่า ภาวะสายตา ผิดปกติเป็นสาเหตุของสภาวะตาบอดถึง 1 ใน 3 ของเด็กไทย และเป็นสาเหตุของสภาวะตาเลือนราง ร้อยละ 28 โดย มีอัตราความชุกของ สภาวะตาบอดในเด็กไทยร้อยละ 0.11 และมีอัตราความชุกของสภาวะตาเลือนรางร้อยละ 0.21 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประมาณการขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของสภาวะตาบอดในเด็ก นําไปสู่การลดอัตราความชุกของตาบอดในเด็กจาก ร้อยละ 0.075 เป็น ร้อยละ 0.04

“หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลระบบคัดกรอง” สำนักส่งเสริมสุขภาพมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพนักเรียนระหว่างระบบฐานข้อมูลร่วมด้านสุขภาพ นักเรียนกับระบบ Vision 2020 เชื่อมกับระบบ HDC ซึ่งเป็นงานอนามัยโรงเรียน และระบบ E claim ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวางแผนแก้ไขหรือช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติได้ต่อเนื่อง

หากเด็กทราบว่าเป็นภาวะตาพร่องสีหรือปัญหาทางสายตาผิดปกติตั้งแต่แรกๆ ควรได้รับคำแนะนำ เด็กจะได้มีทางเลือกอื่นในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพที่เหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง