จับตาไวรัสโคโรนา 20 สายพันธุ์ ระบาด

View icon 78
วันที่ 27 ก.ย. 2566 | 11.33 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - นักวิจัยจีน เผยข้อมูลงานวิจัย พบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวกว่า 20 สายพันธุ์ใหม่ เสี่ยงระบาดมายังมนุษย์ ด้านกระทรวงสาธารณสุขของไทย เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ตามที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลของด็อกเตอร์ ฉี เจิ่งลี่ ผู้อํานวยการศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ออกมาเตือนว่า พบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวกว่า 20 สายพันธุ์ใหม่ และมีความเสี่ยงสูงที่อาจก้าวข้ามระบาดมายังมนุษย์

ซึ่งการออกมาให้ข้อมูลของด็อกเตอร์ ฉี นักล่าไวรัส ทำให้นักวิจัยจากหลายสถาบัน ต้องออกมาเตือน ถึงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก (Exotic virus hunting) อาจได้ไม่คุ้มเสีย เพิ่มความเสี่ยงทำให้มนุษย์และไวรัสในสัตว์ป่าเข้าใกล้กันมากขึ้น สุ่มเสี่ยงเกิดการระบาด

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่น ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2004 ภายใต้ทุนวิจัยขององค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก เพื่อค้นหาไวรัสตัวใหม่ ๆ ที่ไม่มีชื่อ และอาจก่อให้เกิดโรคในคน โดยรวบรวมตัวอย่างจากค้างคาว นำมาตัดต่อพันธุกรรม เพื่อดูว่าไวรัสนั้นเข้ากับมนุษย์ได้หรือไม่ และก่อโรคได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ ไทยก็เคยได้รับทุนวิจัย เมื่อปี 2011 เพื่อเก็บรวมรวมตัวอย่างจากค้างคาวในประเทศไทย แต่ก็ต้องยุติความร่วมมือ ในปี 2018 เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัย

การตั้งรับในไทย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลายหน่วยงานในไทยได้ตั้งรับ การป้องกันเชื้อโรค และโรคอุบัติใหม่ ควบคุมการระบาดไม่ให้มาถึงมนุษย์ ซึ่งจากงานวิจัยดังกล่าว ไทยยังคงเฝ้าติดตาม และนำบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ใช้เป็นแผนรับมือ ยังคงเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา เช่น ในกลุ่มคนที่ทำงานกับสัตว์ปีก เก็บรังนกในถ้ำ ต้องเจาะเลือดตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เตือนไม่ให้ถูกสัตว์ป่ากัด และไม่กินสัตว์แปลก เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง