ไม่ปลอดภัย ทางด่วนพระราม 2 สร้างนานกว่า 50 ปี ดร.เอ้ เสนอ 3 แนวทางแก้

ไม่ปลอดภัย ทางด่วนพระราม 2 สร้างนานกว่า 50 ปี ดร.เอ้ เสนอ 3 แนวทางแก้

View icon 172
วันที่ 30 ก.ย. 2566 | 17.39 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ไม่ปลอดภัย ทางด่วนพระราม 2 สร้างนานกว่า 50 ปี สภาองค์กรของผู้บริโภค ชวน ดร.เอ้ พร้อมทีม สส.ก้าวไกล สก.เพื่อไทย-ปชป. สำรวจพื้นที่หาทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เสนอ 3 แนวทางแก้

ถนนพระราม2 วันนี้ (30 ก.ย.66) สภาองค์กรของผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ลงพื้นที่พร้อมกับนายสารัช ม่วงศิริ สก. เขตบางขุนเทียน พรรคประชาธิปปัตย์  สส.ปูอัด นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. เขตจอมทอง พรรคก้าวไกล นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก. เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทยสำรวจปัญหาการก่อสร้างบริเวณถนนพระราม 2 หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว ด้วยการก่อสร้างนานกว่า 50 ปี

ดร.เอ้ ระบุว่า จากการตรวจสอบด้วยสายตา โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่มีป้ายแจ้งว่าผู้รับเหมาการก่อสร้างคือใคร กำหนดแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ภาคพื้นดินมีการกั้นพื้นที่เพื่อวางวัสดุก่อสร้าง สามารถเก็บไปวางที่อื่นเพื่อคืนผิวการจราจรให้ผู้ใช้เส้นทางพระราม 2 ได้  คานล้ำมาบนถนน เช่นกรณีลาดกระบังก็เคยพังลงมาแล้ว รวมถึงแขนของเครนไม่ควรเกินออกจากไซต์งานก่อสร้าง ป้องกันไม่ให้สิ่งของตกใส่ผู้ใช้เส้นทาง สายไฟระโยงระยางต้องจัดเก็บให้เรียบร้อย

“ดร.เอ้ สุชัชวีร์”  เสนอ 3 วิธี เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทางแรก คือ ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นเพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลที่แท้จริง หน่วยงานกทม.ควรติดตั้งแสดงตัวเลขค่าฝุ่น ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ กทม. มีกฎหมายดูแลความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ค่อยบังคับใช้เข้มข้น กทม. เป็นผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้าง และเพิกถอน ระงับได้ ดังนั้นหากพบว่าการก่อสร้างส่งผลกระทบต่อประชาชน ระงับได้เลย แบบนี้เจ้าของโครงการกลัวมาก จะต้องไปกำชับผู้รับเหมาให้รับผิดชอบมากขึ้น ฝุ่นพิษก็น้อยลง

ทางที่ 2 คือ ปั๊มสูบน้ำและต่อท่ออ่อน เนื่องจากน้ำในชุมชนไม่สามารถระบายออกไปได้ เกิดจากโครงการก่อสร้างปิดทางระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำในชุมชนเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างจึงจำเป็นต้องเยียวยาช่วยเหลือให้ตรงจุด  เพื่อดูแลชุมชนความเป็นอยู่ของชุมชน

และทางที่ 3 คือ ขอคืนผิวทางจราจร ให้ได้สัญจรตามมาตรฐานสากล เมื่อโครงการก่อสร้างใช้พื้นที่ในส่วนของการสัญจรแล้วนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องโยกย้ายสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆออกไป เพื่อเปิดทางให้การสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น