THEOS-2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว สานต่อภารกิจดาวเทียมไทยโชต

THEOS-2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว สานต่อภารกิจดาวเทียมไทยโชต

View icon 186
วันที่ 9 ต.ค. 2566 | 09.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
THEOS-2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว สานต่อภารกิจดาวเทียมไทยโชต สำรวจพัฒนาพื้นที่ประเทศ

ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว วันนี้(9 ต.ค.2566) เมื่อเวลาประมาณ 08.36 น. ตามเวลาประเทศไทย ดาวเทียม THEOS-2 ของประเทศไทย ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังส่งไทยโชตเมื่อปี 2551 ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ หลังจากเลื่อนการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

ด้านนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยถึงการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ก่อนนับถอยหลังเพียง 14 วินาที ว่า เนื่องจากระบบตรวจสอบได้พบค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) ที่อุปกรณ์ Safety Management Unit ของจรวดนำส่ง ระบบจึงตัดการทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ

สำหรับ THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่พัฒนามาเพื่อรับช่วงต่อภารกิจของดาวเทียมไทยโชต พร้อมอัปเกรดเทคโนโลยีและวัสดุชิ้นส่วนให้เหมาะกับยุคสมัยและตอบสนองภารกิจที่หลากหลายมากขึ้น ผลิตโดย Airbus สาธารณรัฐฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญการผลิตอากาศยานระดับโลก ถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดสูงมาก ภารกิจคือการเก็บข้อมูลโดยการถ่ายภาพพื้นผิวโลกเสริมส่งกับดาวเทียมไทยโชตหรือ THEOS-1 ที่ส่งขึ้นไปเมื่อปีพ.ศ. 2551 โดย THEOS-2 นับเป็นอีกหนึ่งดาวเทียมสำรวจของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ประเทศในอนาคต นับว่าเป็นดาวเทียมของประเทศไทยดวงที่ 7 ที่ทำการปล่อยโดย Arianespace ซึ่งเป็นบริษัทรับบริการปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรทุกรูปแบบ โดย THEOS-2 มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 เซนติเมตร เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อใช้งานติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และการพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมทั้ง ยกระดับการให้บริการด้านภูมิสารสนเทศ 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่ ด้านการจัดการเกษตรและอาหาร ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

ส่วนจรวดของ Arianespace ที่นำ THEOS-2 สู่วงโคจรในอวกาศ ขึ้นโคจรมีชื่อว่า Vega โดยใช้ระบบ Rideshare คือการส่งขึ้นไปพร้อมกันกับภารกิจอื่นอีก 12 ภารกิจ น้ำหนักเพย์โหลดรวมทั้งหมด 1,241.7 กิโลกรัม และจะนำพาขึ้นไปยัง วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit : SSO) ในวงโคจรประเภทนี้ ดาวเทียมจะสามารถโคจรผ่านขั้วโลก ณ ตำแหน่งเดิมเสมอเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ นั่นทำให้ดาวเทียมสามารถโคจรผ่านตำแหน่งเดิมที่เวลาท้องถิ่นเดิมตลอด เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องทำการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดาวเทียม THEOS-1 หรือไทยโชต โคจรผ่านฐานปล่อยจรวด ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้ เพื่อดูความพร้อมจากห้วงอวกาศสู่ผืนแผ่นดินและได้ทำการถ่ายภาพสถานที่นำส่งดาวเทียม THEOS-2 เพื่อส่งต่อให้คนไทยได้ร่วมรับชมกัน