กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ลูกหนี้แบงก์รัฐ ยังมีปัญหาจ่ายหนี้ช้า จ่ายหนี้ลดลง ขณะที่ธุรกิจ เอสเอ็มอี.สถานะการเงินเปราะบาง ติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่ง ที่นำเงินไปลงทุนอาจสะสมความเสี่ยงมากขึ้น หลังตลาดเงินผันผวนสูง
วันนี้ (19 ต.ค.66) ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานเสถียรภาพระบบการเงิน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยระบุว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเสี่ยงหลายด้านให้ต้องติดตามกันในระยะต่อไป ดังนี้
1. ความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง ซึ่งสถาบันการเงินยังบริหารจัดการได้และจะไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงแบบก้าวกระโดด (NPL cliff)
2. ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและอาจระดมทุนได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตลาดการเงินยังมีเสถียรภาพ การออกตราสารหนี้ใหม่โดยรวมยังคงทำได้ตามปกติ
3. ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องของ Non-bank บางรายลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี Non-bank ส่วนใหญ่ยังมี retained earnings เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงได้
สำหรับรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงิน ไตรมาส 3 ปี 2566 แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้
1.ภาคครัวเรือน
ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง มีรายได้น้อยยังลดลง และชำระหนี้ได้ช้า ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ของกลุ่มธนาคารของรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จะช่วยให้กลุ่มลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้มากขึ้น และปัญหาจะไม่ขยายเป็นวงกว้าง
2.ภาคธุรกิจ
2.1 ธุรกิจขนาดใหญ่ มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัว โดยภาคการผลิตปรับดีขึ้นเล็กน้อยใน sector ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น อาทิ เคมีภัณฑ์ สวนทางกับกำไรในภาคการผลิตอื่นๆ ขณะที่ ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจาก low season
2.2 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ฐานะการเงินยังเปราะบางและสินเชื่อ SMEs หดตัวจากการทยอยชำระคืนหนี้ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะ sector ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดยธนาคารพาณิชย์ ยังให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
3. ภาคอสังหาริมทรัพย์
3.1 เพื่อการอยู่อาศัย ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ทยอยฟื้นตัว แต่ยังคงมีแรงกดดันจากต้นทุนการกู้ยืม และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
3.2 เพื่อการพาณิชย์ อัตราการเช่าของพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ต้องติดตามอุปทานพื้นที่สำนักงานที่อาจส่งผลให้อัตราการเช่าโน้มลดลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี คาดว่าความเสี่ยงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มีจำกัด เนื่องจากโครงการเปิดใหม่มีอุปสงค์รองรับค่อนข้างดี
4. ภาคธนาคารพาณิชย์และ Non-bank
4.1 ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีระดับเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องยังเข้มแข็ง ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจาก MTM loss ของตราสารทางการเงินบ้าง ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ NPL ทรงตัวจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อ
4.2 ความสามารถในการทำกำไรของ non-bank ลดลงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงและการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญเพิ่มขึ้น แม้ว่า NBs ส่วนใหญ่จะยังมี buffer ที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของ NBs บางรายอย่างใกล้ชิด
5. ภาคสหกรณ์ออมทรัพย์
สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) โดยรวมยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการดำเนินกิจการ แต่ต้องติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่ง ที่อาจสะสมความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง
6. ภาคตลาดการเงิน
6.1 ต้นทุนการระดมทุน เพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่สูงขึ้นหลังการผิดนัดชำระหนี้และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มสูงขึ้น
6.2 ความสามารถในการระดมทุนและ roll over risk นักลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความ selective มากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้กลุ่ม rating BBB และตราสารหนี้ high yield โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ non-bank ที่อาจเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และ sentiment ของนักลงทุนที่แย่ลงซึ่งทำให้ระดมทุนได้ยากขึ้น
7. ภาคต่างประเทศ
เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเข้มแข็ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและดุลการท่องเที่ยวตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนดุลการค้าเกินดุลลดลง
8. ภาค Digital asset
ความเสี่ยงของ digital asset ต่อระบบการเงินไทยมีแนวโน้มลดลง จากความสนใจของผู้ลงทุนและธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำที่สะท้อนผ่านระดับราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง