วันนี้ (26 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานการปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-17 (Shenzhou-17) พร้อมทีมนักบินอวกาศ 3 คน ในวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.) เพื่อปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศจีนในวงโคจรประมาณ 6 เดือน
รายงานระบุว่ายานอวกาศฯ ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนสุดของจรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 ประกอบด้วยทังหงโป ถังเซิ่งเจี๋ย และเจียงซินหลิน
ทังหงโป เกิดปี 1975 รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจเสินโจว-17 และเคยเป็นนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-12 ในเดือนมิถุนายน 2021 ส่วนถังเซิ่งเจี๋ย เกิดปี 1989 เป็นนักบินอวกาศหน้าใหม่และนักบินอวกาศอายุน้อยที่สุดที่จะได้เข้าสู่สถานีอวกาศจีน ขณะเจียงซินหลิน เกิดปี 1988 เป็นนักบินอวกาศหน้าใหม่เช่นกัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (25 ต.ค.) หลินซีเฉียง รองผู้อำนวยการองค์การฯ แถลงข่าวว่าทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 จะทำการทดสอบและทดลองอุปกรณ์บรรทุก (payload) ทางวิทยาศาสตร์และการใช้งานในวงโคจรหลายรายการ
นอกจากนั้นทีมนักบินอวกาศทั้งสามจะทำกิจกรรมนอกยานอวกาศ ติดตั้งอุปกรณ์บรรทุกนอกยานอวกาศ ดำเนินการบำรุงรักษาสถานีอวกาศ รวมถึงทดลองทำการบำรุงรักษานอกยานอวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นงานที่มีความท้าทายมาก
หลินกล่าวว่าขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อยานอวกาศที่ดำเนินงานระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยการตรวจสอบเบื้องต้นพบปีกแผงโซลาร์เซลล์ของสถานีอวกาศจีนถูกอนุภาคขนาดเล็กในอวกาศพุ่งชนหลายครั้งจนเกิดความเสียหายเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี หลินเสริมว่าองค์การฯ คำนึงถึงกรณีเหล่านี้ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบสถานีอวกาศแล้ว โดยปัจจุบันตัวบ่งชี้การทำงานและประสิทธิภาพทั้งหมดของสถานีอวกาศยังคงเป็นไปตามข้อกำหนด
ทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 ยังจะเดินหน้าการประเมินการทำงานและประสิทธิภาพของสถานีอวกาศ ทดสอบการประสานงานและความสอดคล้องของศูนย์สนับสนุนภาคพื้นดินในการปฏิบัติการและการบริหารจัดการของสถานีอวกาศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของสถานีอวกาศ