รวบแก๊งปลอมเว็บฯ บช.ก. เงินหมุนเวียน 7,000 ล้านบาท

View icon 140
วันที่ 18 พ.ย. 2566 | 04.17 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ถ้าใครเคยเห็นเพจที่มีการโฆษณารับแจ้งความออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อว่า "รับแจ้งความออนไลน์" มีการปลอมตราสัญลักษณ์ให้เหมือนของตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อหลอกผู้เสียหายโอนเงิน ตำรวจสอบสวนกลางตัวจริง ได้เปิดปฏิบัติการจับมิจฉาชีพแก๊งดังกล่าว ที่มีเงินหมุนเวียนถึงกว่า 7,000 ล้านบาท

นี่เป็นภาพขณะที่ตำรวจสอบสวนกลาง นำหมายศาลเข้าตรวจค้น 9 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรสาคร เชียงราย สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว จับกุมผู้ต้องหา 5 คน จาก 12 หมายจับ แบ่งเป็นชาวกัมพูชาที่ทำหน้าที่ปลอมเว็บไซต์ดูแลระบบ และยิงโฆษณาเว็บไซต์ของตำรวจสอบสวนกลางปลอม กลุ่มที่ทำหน้าที่ฟอกเงินเป็นชาวจีน และคนไทยอีก 3 คน พร้อมยึดของกลางเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีธนาคาร 46 เล่ม รถยนต์หรู 7 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คัน โฉนดที่ดิน 2 ฉบับ กระเป๋าแบรนด์เนม เงินสดกว่า 8 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 83 ล้านบาท

พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า แก๊งนี้เป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่ปลอมเว็บไซต์ "รับแจ้งความออนไลน์" ปลอม มีด้วยกัน 3 เว็บไซต์ โดยจะเลียนแบบและแอบอ้างชื่อตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนมิถุนายน จะเริ่มเห็นมีโฆษณาเว็บฯ รับแจ้งความออนไลน์ ปรากฏทาง Google เนื่องจากแก๊งนี้ซื้อโฆษณาไว้

เมื่อประชาชนหลงเชื่อติดต่อไป ก็จะถูกล่อลวงให้เพิ่มเพื่อนผ่านทางไลน์ จากนั้นก็จะสวมรอยเป็นแอดมิน ส่งต่อข้อมูลกับทนาย ซึ่งก็คือมิจฉาชีพอีกคน แล้วก็จะส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ไอที มีการส่งแผนผังเส้นทางการเงินปลอมให้ดู แล้วชวนวางแผนแฮ็กเว็บฯ พนัน เพื่อเอาเงินคืน ด้วยการโน้มน้าวให้สมัครเข้าไปเล่นพนัน เพิ่มเงินเดิมพัน แต่สุดท้ายจะไม่ได้เงิน และถูกปิดกั้นช่องทางติดต่อ

พันตำรวจโท นิธิ ตรีสุวรรณ รองผู้กำกับการ 2 บก.ปอท. บอกว่า เว็บฯ เหล่านี้เช่าเซิฟเวอร์ในไทย แต่ใช้เลข IP Address จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยตัวเว็บฯ เคยถูกใช้ฉ้อโกงหลอกเหยื่อลงทุน ซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงเว็บฯ ปลอมเป็นตำรวจสอบสวนกลาง ส่วนเส้นทางการเงินจะมีการโอนเงินผ่านบัญชีม้าหลายแถว ก่อนแปลงเป็นเงินสกุลดิจิทัล ก่อนโอนเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล ส่งต่อเป็นทอด ๆ ไปถึงนายทุน ซึ่ง 1 ในนั้น คือ นายหง สัญชาติจีน และจากการตรวจสอบเงินหมุนเวียน พบว่า 4 เดือนที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 175 ล้านบาท และยังพบยอดเงินหมุนเวียนของกลุ่มคนร้ายทั้งหมดมากกว่า 7,000 ล้านบาท

ส่วนการขยายผลตรวจสอบการอายัดทรัพย์สิน เบื้องต้นพบชื่อของ นายเอกนัฏฐ์ หนึ่งในผู้ต้องหาที่จับกุมได้ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับเครือข่าย "สารวัตรซัว" ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งติดตามยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องมูลค่าอีกกว่า 30 ล้านบาท และติดตามจับกุมตัวการใหญ่มาดำเนินคดี

นอกจากเว็บไซต์ปลอมของกองบัญชาการสอบสวนกลาง มิจฉาชีพกลุ่มนี้ยังปลอมเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน องค์กรต่าง ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงเว็บไซต์หลอกลงทุนต่าง ๆ รวมกว่า 133 เว็บฯ โดยปัจจุบันเปิดใช้งานอยู่ 98 เว็บฯ เช่น เว็บฯ พนันออนไลน์, เว็บฯ หลอกสั่งซื้อสินค้า, เว็บฯ เงินกู้, เว็บฯ หลอกลงทุนสกุลเงินดิจิทัล, เว็บฯ สายการบินปลอม, เว็บฯ หลอกสมัครงาน, เว็บฯ หลอกติดตั้งแอป และยังพบเว็บฯ DSI ปลอม ที่ยังไม่เปิดใช้งานด้วย ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่ได้ทยอยสั่งปิดไปแล้ว 10 เว็บไซต์ด้วยกัน

ส่วนเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายสารวัตรซัว ตำรวจก็ไม่ได้นิ่งเฉย ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 9 สำนวน ส่งสำนวนให้อัยการแล้ว 8 สำนวน อยู่ระหว่างรอการออกหมายจับอีก 1 สำนวน มีผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 162 หมายจับ หรือ 151 คน สามารถจับกุมตัวได้แล้ว 64 คน หลบหนีอยู่ต่างประเทศ 26 คน อายัดทรัพย์สินได้มูลค่ากว่า 7,000 ล้าน และ ปปง. ได้สั่งอายัดทรัพย์สินบางส่วนไว้แล้ว ส่วน บก.ปอท. ได้ปิดกั้นเว็บฯ พนันไปแล้วกว่า 2,000 เว็บไซต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง