รังสิมันต์ โรม แนะปฏิรูปตำรวจ แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์

View icon 52
วันที่ 25 พ.ย. 2566 | 04.14 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - คำพูดหลุดปากของนายกรัฐมนตรี กับคำว่า "สมหวัง" "ไม่สมหวัง" แต่งตั้งตำแหน่งผู้กำกับของวงการตำรวจ เล่นเอาหลายฝ่ายจับตา และพร้อมยื่นให้ตรวจสอบผิดหรือไม่ในข้อกฎหมายด้านจริยธรรม

รังสิมันต์ โรม แนะปฏิรูปตำรวจ แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์
นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องตั๋วตำรวจ ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงการพิจารณาตำแหน่งตำรวจระดับผู้กำกับการ ที่ทำให้เห็นว่าต้องแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ โดยต้องมีการปฏิรูปตำรวจ และสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พูดไปแล้วก็ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจน พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ เพราะหากเป็นเรื่องจริง ถือว่าผิดกฎหมาย

พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจ เริ่มจากกระดุมเม็ดแรก เลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระจายอำนาจให้คนในจังหวัด ร่วมตัดสินใจ รับ หรือ ไม่รับ ตำรวจที่จะย้ายเข้าพื้นที่ ต้องดูแลด้านสวัสดิการ ส่งเสริมตำรวจชั้นประทวนมีโอกาสเติบโต และรัฐต้องเลิกให้ตำรวจทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น ขอตัวไปเป็นตำรวจติดตาม ที่พรรคจะเสนอ ต่อทุกคณะกรรมาธิการที่พรรคก้าวไกลเป็นกรรมการฯ

ภูมิธรรม ชี้แจง นายกฯ อยากแก้ปัญหา ร่วมทำงานฝ่ายปกครองกับตำรวจ สบายใจ
นายภูมิธรรม​ เวช​ย​ชัย​ รองนายก​รัฐมนตรี ​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​พาณิช​ย์​ ยืนยัน นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงการฝากตำแหน่งผู้กำกับ แต่เป็นการพูดถึงการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างฝ่ายปกครองท้องถิ่น คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลกำลังจะทำในขณะนี้ คือปัญหาหนี้นอกระบบ หากทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดีก็จะเกิดความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย และทำให้แก้ไขปัญหาไปได้ เพราะเป็นแกนนำสำคัญในการทำงาน​

ศรีสุวรรณ ยื่น ป.ป.ช. สอบนายกรัฐมนตรี แทรกแซงแต่งตั้ง ผกก.
นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการแต่งตั้งนายตำรวจระดับผู้กำกับหรือไม่ ที่หลุดพูดในการประชุม สส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เรื่อง สมหวัง และ ไม่สมหวัง เรื่องตำแหน่ง ซึ่งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคสอง เข้าข่ายการฝ่าฝืนจริยธรรม ส่วน สส. ที่มีพฤติการการขอตำแหน่งไปยังนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายความผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (3)

และ ป.ป.ช. มองว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏทั้งหมด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ว่าเข้าเงื่อนไขความผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีกรอบเวลาดำเนินการอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สาธารณะให้ความสนใจ ก็จะจัดลำดับขึ้นมาดำเนินการ

สำหรับบทลงโทษสูงสุด กรณี สส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการมี 2 ส่วน ถ้าเป็นเรื่องฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมร้ายแรง ก็จะเป็นการพ้นจากตำแหน่ง และถูกตัดสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการแทรกแซงข้าราชการฝ่ายประจำที่มีการแต่งตั้งก็ถือว่าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ก็ต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง