สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์

View icon 154
วันที่ 25 พ.ย. 2566 | 19.42 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.18 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และทรงออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ณ โรงเรียนหนองกี่พิทยาคม อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์

ในการนี้ พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ 500 โดส เพื่อนำไปสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ในพื้นที่ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญของประเทศยังมีการระบาดในบางพื้นที่และไม่มียารักษา การฉีดวัคซีนตามวงรอบเป็นวิธีป้องกันไม่ให้โรคพิษสุนัขบ้าแพร่จากสัตว์มาสู่คน

จากนั้น ทรงผ่าตัดทำหมันให้สัตว์เลี้ยงของประชาชนและสัตว์จรจัด ซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้ดีที่สุด และช่วยให้สัตว์มีสุขภาพดี ลดความดุร้าย ลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกที่เต้านมในสุนัขเพศเมีย ยับยั้งการเกิดภาวะมดลูกอักเสบ และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ในปีนี้ ยังพระราชทานความช่วยเหลือแก้ปัญหาสุนัขจรจัดที่ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี, วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช แห่งใหม่ จังหวัดสระบุรี เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและจัดหาสถานพักพิงที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำหมันให้สุนัขจรจัดทุกตัว

หน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์, โรงพยาบาลหนองกี่ และโรงพยาบาลหนองหงษ์ ออกหน่วยให้บริการตรวจรักษาโรค พร้อมให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ประชาชน มีผู้มารับบริการ 144 คน มีผู้ป่วยส่งต่อ 17 คน

ส่วนการออกหน่วยสัตว์แพทย์อาสาจุฬาภรณ์มีสำนักงานปศุสัตว์เขต 3, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริการทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ปัญหาสัตว์จรจัดเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นแหล่งแพร่กระจายหลักของโรคพิษสุนัขบ้าที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงมีพระประสงค์ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเป็นภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งพาหะนำโรคเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่มีความใกล้ชิดกับคน สามารถแพร่กระจายเชื้อผ่านทางน้ำลายและการโดนกัด หรือข่วน

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง