สศช.เผยปีนี้หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 พุ่งเพิ่มแล้วกว่า 16 ล้านล้านบาท

View icon 40
วันที่ 28 พ.ย. 2566 | 07.16 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - วันนี้แล้วกับวาระแห่งชาติ แก้หนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลจะออกมาให้รายละเอียดแนวทางการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้พ้นวังวนหนี้ แต่ก่อนที่มาตรการแก้หนี้จะออกมา ก็มีรายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ของปีนี้ มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สศช.เผยปีนี้หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 พุ่งเพิ่มแล้วกว่า 16 ล้านล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ว่า มีมูลค่าสูงถึง 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน ต่อจีดีพี อยู่ที่ 90.6 เปอร์เซ็นต์ คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

โดยการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนที่น่าจับตา คือ หนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 4.9 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยมาจากการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูง และหนี้อีกตัวสำคัญมาก ๆ คือหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์

ส่วนความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน ก็ลดลงเล็กน้อย โดยเอ็นพีแอล มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.68 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.71 เปอร์เซ็นต์ ต่อสินเชื่อรวม อีกทั้ง สภาพัฒน์ ก็ยังย้ำด้วยว่า หนี้สินครัวเรือน ที่ควรให้ความสำคัญ คือ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด19 หากทำให้กลุ่มนี้พ้นกับดักหนี้ได้เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นตัวเพิ่มขึ้น

วันนี้ นายกรัฐมนตรี แถลงแนวทางช่วยลูกหนี้นอกระบบ 
เห็นหนี้สินครัวเรือนที่โตรับ ท้าทายการแก้หนี้ของรัฐบาลเลย ซึ่งวันนี้ ก็ตามนัดหลังประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี จะแถลงแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่จะเปิดให้ลงทะเบียน กับกระทรวงมหาดไทยเริ่ม 1 ธันวาคมนี้

โดยที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรี ก็กำหนดแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ เริ่มเดือนมกราคม 2567 ส่วนลูกหนี้ในระบบกลุ่มอื่น ๆ นายกรัฐมนตรี จะแถลงอีกครั้งวันที่ 12 ธันวาคมนี้

ส่วนมาตรการแก้หนี้นอกระบบ ที่จะเริ่มเห็นโครงร่างหน้าตาวันนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็บอกว่า สิ่งสำคัญที่จะแก้หนี้นอกระบบได้ชะงัก คือ รัฐควรใช้มาตรการปล่อยลอยตัวอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกหนี้ทั้งหมดเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ไม่หันไปพึ่งหนี้นอกระบบตามเดิม

ด้านประชาชน ก็มองการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล ว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยคนที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน พ้นจากเงื้อมมือของกลุ่มคนที่หากินบนหลังคน นำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ก็เป็นมุมสะท้อนจากประชาชน ที่กังวลว่า เงื่อนไขจะทำให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ลำบากอีก ซึ่งก่อนเที่ยงก็คงต้องจับตาว่า ที่นายกฯ  จะแถลงมาตรการ แก้หนี้นอกระบบที่กำลังจะออกมาจะช่วยบรรเทาข้อกังวลที่กล่าวมาขั้นต้นได้มากน้อยแค่ไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง