ห้องข่าวภาคเที่ยง - วันนี้ ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี กปปส.ชุดเล็ก ปลุกระดมมวลชนขับไล่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องรอฟังเรื่องความเห็นต่างก่อน
คดีนี้จำเลยทั้ง 7 คน เช่น นายนัสเซอร์ ยีหมะ, นายอุทัย ยอดมณี, นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา, นางสาวจิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น จิตภัสร์ ที่ได้รับการประกันตัวไป ทยอยเดินทางมารอฟังคำพิพากษาตามนัด ในคดีที่ทั้ง 7 คน ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันมั่วสุม เป็นกบฏสมคบกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฯ กรณีทำกิจกรรมทางการเมือง ชักชวนมวลชนทำกิจกรรมขับไล่รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2556 ถึง 1 พฤษภาคม ปี 2557 ซึ่งคดีหลักศาลมีคำพิพากษาลงโทษ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไปแล้ว ส่วนคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ และขอยื่นประกันตัวไป
ซึ่งก่อนขึ้นไปฟังคำพิพากษาของศาล นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า พฤติการณ์ของแต่ละคนไม่ได้เป็นกบฏ ยกตัวอย่าง "ตั๊น จิตภัสร์" ที่ไปทำหน้าที่แปลข่าวให้สำนักข่าวต่างประเทศเข้าใจเท่านั้น จึงไม่กังวลกับคำตัดสินศาล ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็น้อมรับคำตัดสิน อีกทั้งคดีนี้ยังเป็นแค่ศาลชั้นต้น ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้หากศาลตัดสินให้จำคุก
ส่วนเรื่องความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ เพื่อหาข้อสรุป หลังจากพรรคก้าวไกล เสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองเข้าสภา เสนอให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2549 ถึงปัจจุบัน แต่ตั้งเงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาคัดค้านนิรโทษกรรม 3 คดีมั่นคงสำคัญ คือ การทุจริตชาติ คดีอาญาร้ายแรง เช่น คดีฆ่ากันตายแล้วอ้างเหตุทางการเมือง และคดีความผิด ม.112
ส่วนแกนนำพรรคเพื่อไทยยังมองว่า เรื่องดังกล่าวต้องมีการคุยในเรื่องความเห็นต่างก่อน