รื้อสายสื่อสาร ซ.เพชรบุรี 5 ตัดสายเก่าไม่ได้ใช้งาน MEA ตั้งเป้าภายใน 2 ปี จัดระเบียบสายสื่อสารให้ได้ระยะทาง 1,300 กม.
วันนี้ (1 ธ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสังเกตการณ์งานรื้อสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ซอยเพชรบุรี 5 เขตราชเทวี
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง( MEA ) กล่าวว่า ได้จัดระเบียบสายสื่อสารมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งการดำเนินการกับสายสื่อสารจะมี 2 รูปแบบ คือ การจัดระเบียบสายไฟฟ้าบนอากาศ และถ้าตรงไหนที่มีการจัดระเบียบสายไฟฟ้าลงดิน เราก็จะนำสายไฟฟ้าลงดินไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตามโครงการนี้เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีการประชุมร่วมกันจากหลายฝ่าย ทั้ง กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2 ปี คือปี 2567-2568 จะจัดระเบียบสายสื่อสารให้ได้ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร โดยจะทำเป็น cluster เมื่อทำเสร็จในบริเวณนี้แล้ว เราก็จะขยับไปใน cluster อื่น ๆ ซึ่งในถนนสายหลักเป็นแผนที่เราได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาทาง กสทช. อยากให้ทำเข้ามาในซอยด้วย ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ถ้ามีการปรับปรุงทางเท้า ก็สามารถทำควบคู่กันไปได้เลย เป็นการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การจัดระเบียบสายสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ MEA ยังได้ดำเนินการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปี 2566 MEA มีแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ซอยเพชรบุรีฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ซอยเพชรบุรี 5, 7, 9, 11, 13, 15, 17, 19 รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร ที่ผ่านมา MEA ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วภายในซอยสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ ตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 2-42 และฝั่งเลขคี่ ตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 11-19 รวมถึงพื้นที่ซอยต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียงรวมระยะทาง 55.844 กิโลเมตร ขณะเดียวกันภายในปี 2567 ยังมีโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 6 ถนน รวมระยะทาง 35.2 กิโลเมตร ประกอบด้วย ถนนหลังสวน (เพลินจิต-สารสิน) ระยะทาง 2 กิโลเมตร ถนนสารสิน (ราชดำริ-ถนนวิทยุ) ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร ถนนวิทยุ (พระรามที่ 4-เพลินจิต) ระยะทาง 4 กิโลเมตร ถนนพระรามที่ 4 (หัวลำโพง-สุขุมวิท) ระยะทาง 18 กิโลเมตร ถนนรัชดาภิเษก (พระรามที่ 4-เพชรบุรี) ระยะทาง 6.8 กิโลเมตร ถนนอังรีดูนังต์ (พระรามที่ 1-พระรามที่ 4) ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร
-