สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือ รปภ. กว่า 400,000 คนทั่วประเทศ เตรียมเฮ เนื่องจากกระทรวงแรงงาน เตรียมออกกฎกระทรวง ปลดล็อกชั่วโมงการทำงาน ให้ได้รับค่าล่วงเวลา หรือ OT ไม่ต้องลากการทำงานถึง 12 ชั่วโมง
ความคืบหน้าของการแก้ไขกฎหมาย อัตราการจ่ายค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือ รปภ. กรณีที่ทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมง
เรื่องนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตรียมเสนอร่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 12 ธันวาคมนี้ เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงแรงงาน ให้มีผลบังคับใช้ เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้แก่ รปภ.ทั่วประเทศ ที่มีกว่า 400,000 คน
ก่อนหน้านี้ รปภ. ต้องเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ 12 ชั่วโมง โดยไม่ได้ค่าล่วงเวลา และยังมีเข้ากะพ่วงอีกด้วย ถือว่าเป็นชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และต่อเนื่อง ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้ร่างกฎกระทรวง ออกมาว่า 1 วัน รปภ. สามารถทํางานได้ 8 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าหากทํางานเกิน 8 ชั่วโมง ทางนายจ้างต้องให้ค่าล่วงเวลา เช่นเดียวกับแรงงานในอาชีพอื่น ๆ ทั่วไปด้วย
ด้าน นายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ไม่เห็นด้วย กรณีการปลดล็อกเวลาการทำงานของ รปภ. โดยให้เหตุผลว่า อาชีพ รปภ.ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ต้องมาทำงาน ถึงจะได้ค่าจ้าง หากวันไหนไม่มา ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม จะไม่ได้ค่าจ้างเลย ดังนั้น จึงแนะนำว่ากระทรวงฯ ควรจัดสรรสวัสดิการให้แรงงานกลุ่มนี้จะดีกว่า ให้มีคุณภาพชีวิต และสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น
สำหรับการจ้างงาน รปภ. โดยส่วนใหญ่จะจ้างผ่านบริษัทเอาต์ซอร์ส ซึ่งจะมาในรูปแบบการแข่งขันประมูลงานของแต่ละบริษัท ตามที่หน่วยงานประกาศหา นั่นหมายความค่าจ้างลูกจ้าง รปภ. ได้ถูกกำหนดมาแล้ว ซึ่งค่าจ้างจะเหมาจ่ายรายวัน อยู่ที่วันละ 500-600 บาท ตามตำแหน่งและหน้าที่ ทำงานคนละ 12 ชั่วโมง แบ่งเป็นกะกลางวัน และกะกลางคืน รวมรายได้เฉลี่ยเดือนละเกือบ 20,000 บาท
คำถามในเรื่องนี้ หาก ครม. เห็นชอบการปลดล็อกชั่วโมงการทำงานของ รปภ. เรื่องของค่าแรง จะถูกปรับลดมาด้วยหรือเปล่า ถ้าหากค่าแรงถูกปรับลดลงมา อยู่ในเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างรายวันจะอยู่ที่ 300 กว่าบาท บวกกับ OT ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตกอยู่ที่ 100 กว่าบาท จะคุ้มค่ากับ รปภ.หรือไม่