สบส.ตรวจคลินิกย่านบางเขน เผายาหน้าท้อง จนไฟคลอกเหยื่อ ฟันผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ 2 ข้อหา มีคำสั่งทางปกครอง พร้อมเรียกสอบผู้ประกอบการ
เผายาหน้าท้อง วานนี้(4 ธ.ค.2566) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบคลินิกแพทย์แผนจีน ย่านบางเขน ได้รับการร้องเรียนเกิดไฟคลอกผู้รับบริการ จากการ “เผายาหน้าท้อง” เบื้องต้นไม่พบตัวแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จึงตั้งข้อหาการกระทำผิด 2 ข้อหา พร้อมมีคำสั่งให้ปรับปรุงให้ถูกต้อง มิฉะนั้น จะออกคำสั่งปิดชั่วคราว
นพ.สุระ กล่าวว่า สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณี หญิงสาวรายหนึ่งเข้ารับบริการ “เผายาหน้าท้อง” กับคลินิกดังกล่าว แต่เกิดอุบัติเหตุแอลกอฮอลล์ที่ใช้ในการเผาสมุนไพรไหลโดนบริเวณอื่นของร่างกาย และเมื่อจุดไฟเผาสมุนไพรจึงทำให้เกิดไฟคลอกตัวผู้รับบริการ ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เข้าร่วมกับตำรวจ สน.บางเขน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร พบว่าคลินิกดังกล่าว มีการขออนุญาตประกอบกิจการในลักษณะสหคลินิกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้บริการการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน อาทิ นวดประคบสมุนไพร ฝังเข็ม ครอบแก้ว กัวซา ฯลฯ โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่พบแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล แต่พบแพทย์ผู้ให้บริการ และเจ้าหน้าที่ประจำคลินิก พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงสอบถ้อยคำในเบื้องต้น พร้อมตรวจสอบเวชระเบียน เอกสารประวัติการรักษา และการโฆษณาของคลินิกในสื่อโซเชียล
จากนั้น ได้ให้แพทย์ผู้ให้บริการสาธิตกระบวนการ “เผายาหน้าท้อง” แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ โดยเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จัดเก็บข้อมูลเสร็จสิ้นแล้วจึงแจ้งข้อหาการกระทำผิดในเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต่อคลินิก ได้แก่ 1.ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยมิได้จัดให้มีผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. โฆษณาโดยมิได้ขออนุมัติ ข้อความ เสียง หรือภาพที่ใช้ในการโฆษณาหรือประกาศจากผู้อนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทนับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ระงับการโฆษณาหรือประกาศ และมีคำสั่งทางปกครองให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ปรับปรุงมาตรฐานสถานพยาบาลให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ภายในระยะเวลา 15 วัน มิฉะนั้น จะมีคำสั่งให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว ส่วนมาตรฐานการให้บริการของแพทย์ทางกรม สบส.จะส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมจะมีการเรียกตัวผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกับกรม สบส. ต่อไป