91 ปี รัฐธรรมนูญไทย ประกาศใช้แล้ว 20 ฉบับ ลุ้นต่อฉบับที่ 21
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายขั้นมูลฐานของรัฐ ซึ่งกล่าวถึงกฎเกณฑ์ที่จัดวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นกฎหมายที่อยู่ในฐานะสูงกว่ากฎหมายอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งกฎหมายอื่น ๆ จะมีวิธีการจัดทำหรือมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
ก่อนที่คณะราษฎร จะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยในวันฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี วันที่ 6 เมษายน 2475 แต่คณะอภิรัฐมนตรีได้ทัดทานเอาไว้ ว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร
จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก และ เป็นรัฐธรรมนูญลำดับที่สองของไทย ดังนั้น จึงมีการกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อระลึกถึงโอกาสที่สำคัญนี้
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และ ในปีนี้ (10ธ.ค.66) ไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 91 ปี และ อยู่ระหว่างการเตรียมทำประชามติ สอบถามความเห็นประชาชน การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่รู้ว่าคนไทยจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 หรือไม่ และ เมื่อไหร่ ผู้สนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากพิพิธภัณฑ์รัฐสภา คลิกที่นี่