ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 11 วัน มูลหนี้ 4.57 พันล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 8.6 หมื่นราย

ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 11 วัน มูลหนี้ 4.57 พันล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 8.6 หมื่นราย

View icon 110
วันที่ 11 ธ.ค. 2566 | 19.58 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปลัด มท. เผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 11 วัน มูลหนี้ 4.57 พันล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 8.6 หมื่นราย พร้อมยกกรณีคุณยายเป็นหนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์เป็น Case study โดย มท.1 ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อทบทวนแนวทางปฏิบัติและกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 18 ธ.ค. 66 นี้

วันนี้ (11 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 11 โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 4,570.557 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 86,067 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 78,458 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 7,609 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 55,853 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1. กรุงเทพมหานคร ยังมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 5,533 ราย เจ้าหนี้ 4,309 ราย มูลหนี้ 384.313 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 3,635 ราย เจ้าหนี้ 2,682 ราย มูลหนี้ 195.343 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,482 ราย เจ้าหนี้ 2,296 ราย มูลหนี้ 202.917 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,383 ราย เจ้าหนี้ 1,961 ราย มูลหนี้ 226.356 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,149 ราย เจ้าหนี้ 1,486 ราย มูลหนี้ 131.785 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 115 ราย เจ้าหนี้ 73 ราย มูลหนี้ 4.657 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 173 ราย เจ้าหนี้ 118 ราย มูลหนี้ 13.03 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 245 ราย เจ้าหนี้ 167 ราย มูลหนี้ 7.408 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 276 ราย เจ้าหนี้ 133 ราย มูลหนี้ 7.401 ล้านบาท และ 5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 315 ราย เจ้าหนี้ 188 ราย มูลหนี้ 11.813 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏข่าวคุณยายยุพิน (นามสมมติ) ได้เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า สามีตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต เพื่อนำเงินฌาปนกิจมาใช้หนี้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ในวันนี้ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุทธิพงศ์ เป๊กทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ นายประเดิม เดชายนต์บัญชา นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จังหวัดอุตรดิตถ์  ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของคุณยายร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยทราบ โดยจากการลงพื้นที่ได้พบน้องสาวของคุณยาย และมีเด็กที่เป็นลูกของลูกสาวคุณยาย 2 คน คนโต กำลังเรียนชั้น ม.5 คนเล็กกำลังเรียนชั้นอนุบาล 3 ซึ่งในเบื้องต้นทาง พมจ. จะให้การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุภาวะฉุกเฉิน และเงินกองทุนคุ้มครองเด็กแก่ทั้ง 2 คน นอกจากนี้น้องสาวของคุณยายยังแจ้งกับคณะฯ ว่า ตนเองก็เป็นหนี้นอกระบบเหมือนกันแต่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนคุณยายกับเพื่อนได้ไปลงทะเบียนแล้ว ก็พากันไปร้องสื่อมวลชนต่อ เพื่อหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้ โดยในขณะพูดคุยก็มีคนทวงหนี้นอกระบบรายหนึ่งโทรมาหาน้องสาวคุณยาย ทราบว่าคุณยายเคยเป็นหนี้รายนี้ด้วยแต่ใช้หนี้ไปแล้วหลังจากคุณตา (สามีของคุณยาย) เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอกับการใช้หนี้และน้องสาวคุณยายยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุณยายมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ