สนามข่าว 7 สี - ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดารา นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีพรากผู้เยาว์ อย่างล่าสุดก็เกิดขึ้นกับ "สมรักษ์ คำสิงห์" ข้อต่อสู้ของ "สมรักษ์" ที่บอกว่าไม่รู้ว่าเยาวชนหญิงอายุ 17 ปี พอรู้ก็หยุด สิ่งนี้จะใช้ต่อสู้ในศาลได้หรือเปล่า
เราไปย้อนดูคดีที่ใกล้เคียงกัน คดีนี้เกิดกับนักร้องชื่อดังเมื่อปี 2554 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเอกรัตน์ วงศ์ฉลาด หรือ "แด๊ก บิ๊กแอส" นักร้องมือกีตาร์คนดัง เป็นจำเลยฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจ คดีนี้ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี บำเพ็ญประโยชน์โดยแต่งเพลงเพื่อเยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวฝ้าย เกิดปี 2531 ขณะเกิดเหตุมีอายุไม่เกิน 18 ปี มีรูปร่างสูงใหญ่ตั้งแต่เด็ก ขณะเกิดเหตุมีสัดส่วน 36-26-35 สูง 170 เซนติเมตร จึงรูปร่างใหญ่กว่าคนในวัยเดียวกัน จำเลยพบครั้งแรกในผับ นางสาวฝ้ายบอกจำเลยว่าเป็นนางแบบ เคยลงนิตยสาร "ฟอร์เมน" จำเลยไปเปิดหนังสือดู มีข้อความสัมภาษณ์ว่า "เล่นเจ็ตสกีมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เล่นมาได้ 4 ปีแล้ว" จำเลยอ่านแล้วสำคัญผิดว่า นางสาวฝ้าย อายุ 21 ปีแล้ว นอกจากนี้มีพยานเบิกความว่าเป็น รปภ.ของแมนชั่น บอกว่าน้องฝ้ายอายุเกิน 20 ปีแล้ว
เห็นว่า เมื่อจำเลยอ้างว่าสำคัญผิดในอายุ อันเป็นองค์ประกอบความผิดของมาตรา 319 วรรคแรกแล้ว ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงปรับข้อกฎหมาย มาตรา 62 ป.อาญา ที่บัญญัติว่า "ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือเป็นความผิดน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือเป็นความผิดแต่รับโทษน้อยลง"
ดังนั้น เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าน้องฝ้ายอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษายกฟ้อง
อันนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน สิ่งที่นายสมรักษ์ อ้างและภาพวงจรปิดนั้น ก็ถือว่าเป็นหลักฐานใช้ต่อสู้คดี สิ่งที่ผู้เสียหายแจ้งความเอาผิดนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่สำเร็จแล้ว เข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศ คือใช้กำลังลวนลาม ทั้ง ๆ ที่เยาวชนหญิงพยายามขัดขืนแล้ว แต่สู้แรงไม่ไหว ถููกจับเปลื้องผ้า และถูกกระทำอนาจาร
ดังนั้นสิ่งที่นายสมรักษ์ ใช้ต่อสู้ทางเดียวนั้น คือพยายามให้ศาลฯ เชื่อว่าขาดเจตนา สำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายอายุเกิน 17 ปี แต่สิ่งที่นายสมรักษ์ให้สัมภาษณ์ กลับเป็นหลักฐานมัดตัว คือทราบว่าน้องผู้เสียหายอายุ 17 ปี ตั้งแต่อยู่ในผับแล้ว แต่ก็ยังพาไปโรงแรม แม้ว่าน้องจะสมัครใจไปด้วยก็ตาม
สุดท้ายแล้วการไปพูดคุยกับผู้ปกครองของเยาวชนคนนี้เพื่อเยี่ยวยา ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ข้อต่อสู้นั้นมีอยู่ แต่ศาลฯ จะฟังหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง
ส่วนโทษของนายสมรักษ์ จะเข้าข่ายมาตรา 319 ป.อาญา "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท “
ส่วนข้อหาอื่น ๆ ก็จะขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของคดี อย่างเช่นข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย อันนี้จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-400,000 บาท