สนามข่าว 7 สี - รัฐบาลประกาศแนวทางแก้หนี้ ทั้งหนี้นอกระบบที่ยังอยู่ระหว่างเปิดรับลงทะเบียนแก้หนี้ ส่วนหนี้ในระบบก็ประกาศมาตรการออกมาแล้ว จำแนกลูกหนี้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ แต่ละกลุ่มให้ความช่วยเหลือแตกต่างกันออกไป โดยนายกรัฐมนตรีประกาศ แก้หนี้ทั้งระบบ ต้องจบในรัฐบาลนี้
แก้หนี้ทั้งระบบ ต้องจบในรัฐบาลนี้
หลังรัฐบาลประกาศให้การแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติและทยอยแก้หนี้นอกระบบมาได้ 13 วัน นับรวมวันนี้ เมื่อวานก็ได้มีการประกาศแนวทางแก้ปัญหาหนี้ในระบบ ก็เช่นเคย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงด้วยตัวเอง โดยย้ำว่า รัฐบาลจะจัดการหนี้ทั้งระบบ ช่วยคนไทย 10.3 ล้านคน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย พร้อมปักธง ต้องแก้หนี้ทั้งระบบให้จบในรัฐบาลนี้
เบื้องต้น แบ่งหนี้ในระบบเป็น 4 กลุ่ม คือ ลูกหนี้ได้รับผลกระทบโควิด-19, กลุ่มรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้มาก, กลุ่มรายได้ไม่แน่นอน และกลุ่มเป็นหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล มานาน ซึ่งความช่วยเหลือ กลุ่มแรก ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพราะเจอพิษโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME และมีประวัติอยู่ในเครดิตบูโร กลุ่มนี้จะได้รับความช่วยเหลือ พักหนี้ให้ 1 ปี ลดดอกเบี้ย 1% ยกเลิกสถานะหนี้เสีย กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ราว 100,000 คน
กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้รายได้ประจำแต่มีหนี้มาก เช่น หนี้ครู ตำรวจ ทหาร และหนี้บัตรเครดิต จะให้โอนหนี้ไปไว้ในที่เดียวอย่างหนี้สหกรณ์ เพื่อหักเงินเดือนไปจ่ายหนี้ได้สะดวก และมีเงินเหลือใช้ 30% ของเงินเดือน ส่วนครู บุคลากรการศึกษา 900,000 คน ได้จัดทำสวัสดิการเงินกู้ข้าราชการดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือ
ส่วนกลุ่มหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ที่เป็นหนี้เสีย ให้ร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อรวมหนี้เป็นก้อนเดียว ลดดอกเบี้ยจากเพดาน 16-25% เหลือ 3-5% ต่อปี นาน 10 ปี สมัครผ่านเว็บไซต์ของคลินิกแก้หนี้
กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ชำระหนี้คืนไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ กยศ. กลุ่มนี้ได้รับพักหนี้ชั่วคราว ลดดอกเบี้ย ลดเงินผ่อนชำระให้ต่ำลง เพื่อสอดคล้องรายได้ของลูกหนี้ เช่นพักหนี้เกษตรกร 3 ปี มีเข้าร่วมแล้ว 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ และลูกหนี้เช่าซื้อ มีกำหนดดอกเบี้ยขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถใหม่ ไม่เกิน 10% รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23%
กลุ่มที่ 4 กลุ่มหนี้เสียคงค้างกับธนาคารมานาน มีประวัติในเครดิตบูโร ทำให้ขอสินเชื่อใหม่ไม่ได้ จะให้ธนาคารรัฐ ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อรับโอนหนี้เสียส่วนนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือได้ 3 ล้านคน เริ่มได้ไตรมาสแรกปีหน้า
นายกรัฐมนตรี บอกว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่กับไทยมานาน ปัญหาหนี้ในระบบ เป็นปัญหาไม่แพ้หนี้นอกระบบ การแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องจบในรัฐบาลชุดนี้
ส่วนการแก้หนี้นอกระบบที่ผ่านมา เปิดลงทะเบียน มีคนเข้ามาลงทะเบียนแล้วกว่า 86,000 คน และเข้าระบบไกล่เกลี่ยแล้ว กำชับห้ามเงียบหายโดยเด็ดขาด ในระยะยาวจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยกระดับสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ สะท้อนความเสี่ยงลูกหนี้อย่างเป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ป้องกันก่อหนี้เกินตัว และจะเพิ่มความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมวินัยการออม ให้ปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง รวมถึงให้ใช้ประวัติชำระหนี้อื่น เช่น จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เข้ามาประกอบขอสินเชื่อได้ด้วย
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่มีปัญหา 5 ล้านคน จำนวนบัญชี 12 ล้านบัญชี โดยยอดหนี้บัตรเครดิตรวม 540,000 ล้านบาท มีปัญหา 1.1 ล้านใบ ทั้งหมด อยู่ในก้อนหนี้ครัวเรือนทั้งหมด 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90% ของจีดีพี
ข้าราชการ พม. แบกหนี้คนละ 900,000 บาท
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ได้สำรวจภาระหนี้สินของข้าราชการในสังกัด พบว่า จากจำนวนข้าราชการอยู่ราว 11,000 คน กว่า 90% ล้วนมีภาระหนี้ คนละไม่ต่ำกว่า 900,000 บาท ปัญหาคือส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการหนี้ได้อย่างไร ซึ่งจะเร่งช่วยเหลือด้วยการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ให้กับข้าราชการกลุ่มนี้ด้วย