สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงลงพระนามความร่วมมือและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ 4 สถาบันการศึกษา

View icon 246
วันที่ 15 ธ.ค. 2566 | 20.03 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.25 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงลงพระนามความร่วมมือและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 7 ปี 2 ปริญญา ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ และทักษะด้านการวิจัย นวัตกรรม ควบคู่กับศาสตร์ด้านอื่น ที่สามารถนำไปประยุกต์เพื่อรับใช้และพัฒนาสังคม

จึงเกิด "โครงการหลักสูตรแพทยศาสตรบันฑิตควบคู่กับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา" โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ สนับสนุน และส่งเสริมการนำสาขาวิชาที่เปิดในระดับบัณฑิตศึกษา ไปเป็นสาขาวิชาควบให้นักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ระยะแรกมี 8 สาขาวิชา โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สนับสนุนนักวิจัย และห้องปฏิบัติการ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญาระดับบัณฑิตศึกษาจากสถาบันตามหลักสูตรที่เลือกเรียน

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงเรียนแพทย์ลำดับที่ 23 ของประเทศ ที่ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของ World Federation for Medical Education โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์และแพทยสภา ตั้งขึ้นจากพระปณิธานที่จะยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการแพทย์ชั้นนำ จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อสร้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ ในระดับปริญญาตรี โท และเอก

และในปี 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และสร้างนวัตกรรม ที่นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการหรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์-อุตสาหกรรมได้

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง