โอมิครอน JN.1 ปรับกลยุทธ์กลายพันธุ์จับเซลล์เยื่อบุลำไส้คล้ายไวรัสเมอร์ส

โอมิครอน JN.1 ปรับกลยุทธ์กลายพันธุ์จับเซลล์เยื่อบุลำไส้คล้ายไวรัสเมอร์ส

View icon 269
วันที่ 24 ธ.ค. 2566 | 14.18 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เผยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประเมินว่าโอมิครอน JN.1 กำลังปรับกลยุทธ์กลายพันธุ์ส่วนหนาม จับเซลล์เยื่อบุลำไส้คล้ายไวรัสเมอร์ส

โควิด วันนี้ (24 ธ.ค.66) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประเมินว่าโอมิครอน JN.1 กำลังปรับกลยุทธ์ด้วยการกลายพันธุ์ส่วนหนามแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จากเดิมที่จะจับจำเพาะกับเซลล์เยื่อบุปอดให้สามารถแพร่ลงลึกจับกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ร่วมด้วย คล้ายกับ“ไวรัสเมอร์ส(MERS)”เพราะหลายประเทศตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสีย ที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะ เพิ่มมากขึ้น

แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์โดยตรงที่แน่ชัดว่าโอมิครอน JN.1 จะทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายสถาบันสังเกตเห็นแนวโน้มจากการตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย และสิงคโปร์ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา

ข้อความตอนหนึ่งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุด้วยว่า การเฝ้าติดตามการเพิ่มจำนวนและการอุบัติขึ้นของสายพันธุ์เก่าและใหม่ของเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียที่ยังไม่ได้บำบัด จากแหล่งชุมชนที่มีการปนเปื้อนปัสสาวะและอุจจาระจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีและไม่มีอาการ สามารถตรวจจับเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียได้ ก่อนที่จะมีผู้ป่วยปรากฏให้เห็นในสถานพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทำให้การตรวจเชื้อโควิดจากน้ำเสียเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพสำหรับการเตือนภัยล่วงหน้าและการติดตามการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำหรืออุบัติใหม่อื่นๆ และเนื่องจากโอมิครอน JN.1 ได้รับการจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Varian of interest) โดยองค์การอนามัยโลกเมื่อ 20 ธ.ค.66 ทำให้มีการตรวจหาโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสียร่วมด้วย

ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริการะบุว่าระดับปริมาณไวรัสโอมิครอนจากน้ำเสียในปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) เพิ่มสูงมากเกินกว่าระดับของโอมิครอนในน้ำเสียที่สังเกตได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) ที่มีผู้ป่วยเกือบ 40,000 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโอมิครอนในสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 23 ธ.ค.66 กระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 752 ราย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นในวันเดียวสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.66

กลุ่มความร่วมมือจีโนมิกส์ SARS-CoV-2 ของอินเดีย รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน JN.1 จำนวน 21 รายจากทั่วประเทศ โดย 19 รายอยู่ในรัฐกัว และในรัฐมหาราษฏระและเกรละ รัฐละ 1 ราย  กรณีของโอมิครอน JN.1 ในอินเดียยังไม่พบการติดเชื้อที่รุนแรง  การตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในอินเดียนำไปสู่มาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินนานาชาติปุเณ  รัฐมหาราษฏระ และการติดตามบุคคลที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่และมีอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

การศึกษาในอดีตพบว่าไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาตระกูลหนึ่งที่มีจุดเด่นในการติดเชื้อที่เซลล์เยื่อบุระบบทางเดินอาหารเป็นการเฉพาะ และเร็วๆ นี้พบว่าการกลายพันธุ์บางตำแหน่งบนจีโนมของโอมิครอน JN.1 ไปคล้ายกับไวรัสเมอร์ส อันอาจทําให้มีพันธุกรรมที่เอื้อต่อการติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุลำไส้ สังเกตจากหลายประเทศขณะนี้ตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสีย(ที่ปนเปื้อนอุจจาระปัสสาวะ) เพิ่มมากขึ้นอันบ่งชี้ว่าโอมิครอน JN.1 มีการกลายพันธุ์เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันในบริเวณ “เซลล์เยื่อบุปอด” อันสืบเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ ไปเพิ่มจำนวนในบริเวณ “เซลล์เยื่อบุลำไส้” แทน

การที่ไวรัสเปลี่ยนแปลงเซลล์เป้าหมาย (viral tropism) จากเซลล์เยื่อบุปอดมาเป็นเซลล์เยื่อบุลำไส้ของโอมิครอน JN.1 คาดว่าช่วยให้ไวรัสไม่ถูกจับและทำลายจากแอนติบอดีในปอด โดยอาจส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคและการแพร่กระจายของเชื้อในอนาคต

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากโอมิครอน JN.1 สามารถติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุลำไส้ ได้แก่
- มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร: ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน JN.1 อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง คลื่นไส้ และอาเจียน อาการเหล่านี้อาจพบได้บ่อยหรือรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ อื่นๆ
- ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแพร่เชื้อ: หากโอมิครอน JN.1 สามารถแพร่เชื้อในลำไส้ได้ ก็อาจหลั่งออกมาทางอุจจาระได้ สิ่งนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสจากคนสู่คน
-โรคที่รุนแรงมากขึ้น: ในบางกรณี ไวรัสที่สามารถติดเชื้อในลำไส้อาจทำให้เกิดโรคที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ เนื่องจากลำไส้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีเซลล์ภูมิคุ้มกันจำนวนมาก ซึ่งสามารถตกเป็นเป้าหมายของไวรัสเข้าทำลายได้

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบทั้งหมดของความสามารถของโอมิครอน JN.1 ในการติดเชื้อกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ที่อาจมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นประชาชนจึงควรปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันหรือควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเองติดเชื้อ เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด การสวมหน้ากากอนามัยในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง