นราธิวาสจมบาดาล บทเรียนที่ไม่แก้ไข ดร.เสรีเผยแจ้งเตือนตั้งแต่ 20 ธ.ค.

นราธิวาสจมบาดาล บทเรียนที่ไม่แก้ไข ดร.เสรีเผยแจ้งเตือนตั้งแต่ 20 ธ.ค.

View icon 161
วันที่ 26 ธ.ค. 2566 | 15.16 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
นราธิวาสจมบาดาล บทเรียนและช่องว่างที่ไม่แก้ไขสักที ดร.เสรีเผยแจ้งเตือนล่วงหน้าตั้งแต่ 20 ธ.ค. ฝนตกหนัก-เหตุการณ์ไม่ปกติ ให้เตรียมแผนอพยพ ย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง

น้ำท่วมนราธิวาส วันนี้ (26 ธ.ค.66) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า เมื่อวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 ตนได้แจ้งเฝ้าระวังเหตุการณ์ฝนตกหนักมาก และน้ำไหลหลากบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) ระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2566 เนื่องจากผลการประเมินดัชนีความรุนแรงของปริมาณฝนอยู่ในระดับ 90% (ดูรูปแนบ) เป็นระดับรุนแรงวิกฤต ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อนในรอบหลายปี

658a90cccdfc78.35546831.jpg

ต่อมา วันเสาร์ที่ 23 ธันวามคม 2566 ตนในนามรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ประกาศทางสถานีวิทยุแทบทุกสถานี ยกระดับจากการเฝ้าระวังเป็นการเตือนภัยให้เตรียมย้ายรถยนต์ ทรัพย์สินไปอยู่ในที่สูงพร้อมเตรียมการอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ดร.เสรี ระบุด้วยว่า ข้อมูลปริมาณฝนตกจาก สสน. ตั้งแต่เวลา 07.00 วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ถึงเวลา 07.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม 2566 มีปริมาณตั้งแต่ 300-650 มม. โดยเฉพาะใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีมากถึง 650 มม. คำถามว่าปริมาณฝนขนาดนี้จะสร้างความเสียหายขนาดใหน หน่วยงานใดจะทำหน้าที่ประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์  หน่วยงานใดจะแจ้งเตือนแบบถึงตัวชาวบ้าน เพื่อเตรียมแผนอพยพประชาชน 

ภารกิจต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นช่องว่างที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น หน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นองค์กรด้าน Regulator ไม่ใช่ Operator ขาดความเข้าใจสภาพพื้นที่ และองค์ความรู้เฉพาะด้าน คำตอบจึงอยู่ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเป็นผู้ประสบภัยในลำดับแรก และเป็นผู้ฟื้นกลับในลำดับสุดท้าย

คำถามจึงอยู่ว่า ท้องถิ่นที่ว่าจะเป็นหน่วยใด มีเทคนิคอย่างไร คำตอบตามหลักสากล จากประสบการณ์ทำงานกับ IPCC และ UNDP และภาคเอกชนหลายราย เราทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งได้ภายใน 3 ปี เปลี่ยนผ่าน จาก CRM (Climate Risk Management) เป็น CRP (Climate Resilient Pathway)

ดร.เสรี ระบุอีกว่า สถานการณ์ฝนใน จ.นราธิวาสยังคงมีอยู่จนถึงปลายปี (ประมาณ 20-60 มม.) ซึ่งจะไม่ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น หากการระบายน้ำภายใน 1-2 วันมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ เรื่องของพายุฝน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ด้วย

658a90b020a9b7.99586133.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง