วันนี้ (2 ม.ค.67) ผู้สื่อข่ารายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ให้เริ่มคิดตั้งแต่คนโดยสารได้ผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสารแล้ว และให้ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู แก่บุคคล ดังต่อไปนี้
1) เด็กซึ่งมีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร
2) คนพิการ โดยคนพิการดังกล่าวต้องแสดงบัตรประจำตัวคนพิการที่ทางราชการออกให้ ก่อนใช้บริการ
บุคคลซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย ให้มีอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราค่าโดยสาร ในกรณีมีเศษไม่เต็มจำนวนบาท ให้ปรับเศษดังกล่าวเต็มจำนวนบาท
อย่างไรก็ตาม ประกาศอัตราค่าโดยสารให้อำนาจ คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดผลิตภัณฑ์ของตั๋วโดยสารที่มีอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนด เช่น ตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ หรือยกเว้นอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนด เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนโดยสาร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดก็ได้
โดยคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารหรือยกเว้นอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดได้เป็นครั้งคราว เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู ตามตารางแนบท้ายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท จะพบว่าหากไม่มีส่วนลดใดๆ ค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท คล้ายเป็นค่าแรกเข้า จากนั้นค่าโดยสารจะปรับขึ้นตามระยะทาง ซึ่งตามตารางค่าโดยสารกำหนดไว้สถานีละ 3 บาท กรณีโดยสารตั้งแต่ 9 สถานีขึ้นไป ค่าโดยสารกับค่าแรกเข้าจะชนเพดานที่ 45 บาท ทำให้ผู้ใช้บริการที่เห็นตารางอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เผยแพร่ในโซเชียล เข้ามาแสดงความเห็นว่า แอบแพงอยู่เหมือนกัน ใช้บริการ 9 สถานี จ่ายราคาเดียวกับการนั่งตลอดสาย และอาจจะต้องกลับไปใช้รถยนต์ตามเดิม