Gen-Z หมดไฟมากสุด หัวหน้า คือปัญหาทำให้เครียด

Gen-Z หมดไฟมากสุด หัวหน้า คือปัญหาทำให้เครียด

View icon 273
วันที่ 10 ม.ค. 2567 | 13.39 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
มนุษย์เงินเดือน Gen-Z หมดไฟมากสุด เหนื่อยตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน คำตอบตรงกัน หัวหน้าคือปัญหาทำให้เครียด เน้นผลลัพธ์ตัวเลขโดยไม่แคร์คนทำงาน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ในประเด็นหลัก (ธีม) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมีการจัดเวทีการพูดคุยหัวข้อ การส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะทางจิต “การออกกำลังใจ … ใครก็ทำได้”

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สุขภาพจิตกับสุขภาพกายสำคัญต่อคนไม่ต่างกัน แต่สุขภาพจิตมักถูกมองข้าม ถูกเพิกเฉย เพราะอาจเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น คนมักจะนึกถึงสุขภาพจิตเมื่อสถานการณ์ไปถึงเส้นของปัญหาแล้ว แตกต่างกับสุขภาพกายที่มองเห็นและถูกพูดถึงบ่อย

ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวว่า ปลายทางที่จะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดที่สุดของปัญหาสุขภาพจิตคือการฆ่าตัวตายซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาจุฬาฯ เคยทำวิจัยด้วยการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางอารมณ์ หรือ Emotional crisis หรือคนที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ พบว่ามีตัวกระตุ้นคือ 1. การเรียน ซึ่งเชื่อมไปสู่การทำให้คนที่เขารักเสียใจ 2. เรื่องเงินและสภาพเศรษฐกิจ 3. ความสัมพันธ์ของเพื่อน คนรัก หรือ support system ที่แยกจากกัน ทุกๆ การถอดบทเรียนและการศึกษา ยืนยันตรงกันว่าการเข้าถึงบริการ การเข้าถึงนักจิตวิทยา การเข้าถึงการให้คำปรึกษา-พูดคุย ช่วยคนได้จริงๆ แต่ปัจจุบันยังเข้าถึงเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น 

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลจากพนักงานในประเทศไทยจำนวน 1,000 คน พบว่า พนักงานส่วนใหญ่จะรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ คือตื่นขึ้นมาก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว หรือเมื่อไปถึงที่ทำงานแม้ว่าจะยังไม่เริ่มทำงานแต่ก็รู้สึกว่าทำงานมาทั้งวันแล้ว ขณะที่เรื่องช่วงวัยหรือ Generation นั้น พบว่า Gen-Z ซึ่งอาจเป็น first jobber หรือการทำงานเป็นครั้งแรก มีความรู้สึกเหนื่อยล้าหรือภาวะหมดไฟที่สูงกว่าคน Generation อื่น โดยให้เหตุผลอาทิ ไม่เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง และพบอีกว่าเพศหญิง และ LGBTQ+ มีภาวะความเครียดและความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ที่สูงกว่าเพศชาย

"นโยบายองค์กรที่มุ่งเน้นไปที่ตัวเลขหรือผลลัพธ์โดยไม่แคร์คนทำงาน คือสิ่งที่พนักงานเครียดมาก และที่ตอบตรงกันมากที่สุดคือ ‘หัวหน้า หัวหน้า หัวหน้า’ คำถามคือเราพัฒนาศักยภาพผู้นำของหัวหน้าเพียงพอแล้วหรือไม่ สิ่งที่จะทำให้คนทำงานไม่เครียดคือการมีหัวหน้าที่เข้าใจและคอยถามความรู้สึกของเขา การให้ทักษะแก่หัวหน้าเพื่อดูแลคนในทีมได้เป็นสิ่งสำคัญ ตลอดจนการสร้างนโยบายยืดหยุ่นในการทำงาน และ the Right to disconnect ที่ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยว่าจะไม่ต้องตอบอีเมลในช่วงเวลาค่ำและได้พักผ่อนจริงๆ ให้สามารถปิดสวิตช์การทำงานได้จริงๆ รวมถึงการเปิดช่องให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ"

น.ส.กันตพร ขจรเสรี ผู้ร่วมก่อตั้งมายด์เวนเจอร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ทำงานวิจัยพบว่ามีวัยรุ่นและเยาวชนไทย 1 ใน 3 หรือ 32% มีความเสี่ยงต่อการซึมเศร้า หมายความว่าเพื่อนหรือบุตรหลานของเรา เขาอาจดูเหมือนยิ้มและมีความสุข แต่เมื่อเขาอยู่คนเดียวในห้องกลับกำลังรู้สึกแย่อยู่ ที่สำคัญคือเขาอาจจะโดดเดี่ยวและไม่มีคนให้คุยด้วยเลย และถึงแม้ว่าเด็กและเยาวชนจะยังไม่เข้าสู่โลกของการทำงานแต่ก็มีภาวะความเครียดไม่แพ้กัน

จากการเก็บข้อมูลเยาวชนกว่า 900 คน พบว่าวิธีการรับมือกับความเครียดคือเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ และฝืนยิ้ม เพราะเขาเหล่านั้นไม่มีคนคุยด้วยและไม่มีเครื่องมือในการดูแลสุขภาพจิตตัวเอง ส่วนปัญหาที่พบบ่อยในวัยนี้คือการค้นหาตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยแล้วความต้องการของตัวเองไม่ตรงกับความต้องการของผู้ปกครอง ตลอดจนการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือการหาเครื่องมือให้กับคนกลุ่มนี้รับมือกับความเครียดได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง