เจาะปมหักค่าหัวคิวแรงงานไปฟินแลนด์ เกี่ยวพัน 2 อดีต รมต.-ผู้บริหารระดับสูง ก.แรงงาน

View icon 105
วันที่ 13 ม.ค. 2567 | 05.16 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - กระทรวงแรงงาน เตรียมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปมหักค่าหัวคิวแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์แล้ว หลังดีเอสไอมีมติแจ้งข้อกล่าวหา 2 อดีตรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูง

คดีนี้ ดีเอสไอ ได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ หลังให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศฟินแลนด์ ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

จากข้อมูลพบว่า มีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทย ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของฟินแลนด์ เป็นค่า "หัวคิว" เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท ทั้งที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย

และยังพบว่าระหว่างปี 2563-2566 มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินประมาณ 36 ล้านบาท จึงมีมติกล่าวหาอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานอีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และให้เร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด

โดยเรื่องนี้ทั้ง นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางานในปี 2565-2566 ก็ออกมายืนยันว่า ไม่มีเอี่ยวในเรื่องนี้

ทีมข่าวของเราสอบถามเพิ่มเติมไปยัง พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ในฐานะโฆษก DSI เกี่ยวกับหลักฐานที่ทางฟินแลนด์ส่งให้ว่ามีอะไรบ้าง ท่านบอกว่ามีทั้งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และการส่อว่าจะทุจริต โดยพบเอกสารเขียนเรื่องรายจ่ายเอาไว้ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการสอบสวนขยายผลไปถึงการหักค่าหัวคิว และคำนวณความเสียหายเฉลี่ยจากจำนวนแรงงาน ตกประมาณ 3,000 บาทต่อหัว อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาก็จะต้องไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า จะเรียกปลัดกระทรวงแรงงาน มาสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2563-2566 มีความเป็นมาอย่างไร เพื่อหาข้อเท็จจริง เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กระทรวงแรงงาน นอกจากนี้จะหารือถึงข้อควรระวังในการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ ซึ่งมีในลักษระเดียวกันอีก 11-12 ประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการหักค่าหัวคิวอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง