สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

View icon 125
วันที่ 17 ม.ค. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 12.58 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังชั้น 3 อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

การเกิดโรคมะเร็ง หรือ Oncogenesis เป็นวิชาที่มีความสำคัญต่อนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ ทรงบรรยายพิเศษใน 2 หัวข้อ ต่อเนื่องจากกระบวนการและขั้นตอนของการเกิดมะเร็ง คือเรื่อง อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์ และเรื่องยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง

โรคมะเร็ง เกิดได้จากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่แบ่งตัว แล้วเจริญอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดจากไวรัสที่แทรกแซงเข้าไปในเซลล์ แล้วเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ปกติ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุล พบว่ายีนของไวรัส เมื่อเข้าควบคุมแล้วจะเกิดการกลายพันธุ์ของยีน, การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม และการเพิ่มจำนวนของยีนอย่างรวดเร็ว ปกติเซลล์จะถูกควบคุมโดยกลุ่มของโปรตีน ให้มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม แต่หากเซลล์ผิดปกติ จะเกิดกระบวนการต่อต้านการเกิดมะเร็งขึ้น ด้วยการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ นอกจากยีนก่อมะเร็งแล้ว ยังมียีนยับยั้งการเกิดมะเร็งหลายชนิด และทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ยีน p53 ที่ทำหน้าที่สร้างโปรตีนจำเพาะ ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และเป็นกลไกตรวจจับเซลล์ที่ผิดปกติทางพันธุกรรม โดยเป็นยีนที่มีความสำคัญ และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้

การบรรยายพิเศษพระราชทานครั้งนี้ เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาในรายวิชา จพบภ. 3304 พัฒนาการ พันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพันธุกรรมและระบบพัฒนาการ, กฎพื้นฐานของการสืบทอด, การกลายพันธุ์ และความผิดปกติของโครโมโซมในโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในประเทศไทย, การหาตำแหน่งกลายพันธุ์และการรักษาโรคทางพันธุกรรม คัพภวิทยา, การเจริญเติบโตแบบผิดปกติ, องค์ประกอบพื้นฐานและความซับซ้อนของโรคมะเร็ง, อาการของโรคมะเร็ง, เนื้องอก และผลต่อสรีรวิทยาปกติ, กลไกการดื้อต่อมะเร็ง, การป้องกันมะเร็ง และการตรวจคัดกรองมะเร็ง

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง