ห้องข่าวภาคเที่ยง - มีลูกหนี้นอกระบบไปขอความช่วยเหลือกับตำรวจอีกแล้ว คราวนี้ถูกหลอกทำสัญญาร่วมทุน จากหนี้รวม 600,000 บาท ตอนนี้จ่ายเงินชดใช้ไปแล้วกว่า 1.3 ล้านบาท แถมยังถูกหมายเรียกตำรวจให้ไปรับทราบข้อหาด้วย
ผู้เสียหายเล่าว่า จุุดเริ่มต้นมาจากที่ตอนนั้นกำลังต้องการกู้ยืมเงินก้อนหนึ่ง มาลงทุนขายเสื้อผ้ามือสองตามตลาดนัด ก็มีเพื่อนแนะนำให้ไปกู้ยืมเงินนอกระบบกับน้าชาย จึงขอกู้เงินมา 200,000 บาท เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ตอนนั้นทำสัญญากันว่า จะส่งดอกเบี้ยวันละ 3,000 บาท เป็นเวลา 120 วัน รวม ๆ แล้วต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 360,000 บาท พอกู้เงินไปได้ระยะหนึ่ง ก็ไปขอกู้เงินมาเพิ่มอีก ทำให้ยอดหนี้สูงขึ้นเป็น 600,000 บาท ก็พยายามส่งจ่ายไปได้ 80 วัน
เมื่อเริ่มมีปัญหาขายเสื้อผ้าได้ไม่ดี จึงไปเจรจาใหม่ขอให้รวมยอดเป็นเงินก้อนเดียว และจะขอส่งไม่เกิน 2,000 บาทต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มจำนวนวันส่งแลกกับการเพิ่มดอกเบี้ย เจ้าหนี้ก็รับปาก แต่บอกให้ทำ "สัญญาร่วมลงทุน" อ้างว่าถ้าทำสัญญาแบบนี้ จึงจะสามารถลดดอกเบี้ยตามที่ร้องขอได้ ตนจึงยอมเซ็น จากนั้นก็ทยอยส่งดอกเบี้ยตามข้อตกลงมาเรื่อย ๆ ถ้าครั้งไหนที่ส่งไม่ไหว เจ้าหนี้จะสั่งให้ล้มวง และให้เริ่มส่งดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งถ้านับดูแล้วเท่ากับจ่ายเงินไปกว่า 1.3 ล้าน 300,000 บาท แล้ว และเจ้าหนี้บอกว่ายังเหลือที่ต้องจ่ายอีก 560,000 บาท
ไม่เท่านั้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว ยังได้รับหมายเรียก ให้ไปรับทราบข้อหาฐาน "ผิดสัญญาร่วมทุน" เพราะจ่ายดอกเบี้ยไม่ครบตามสัญญา ซึ่งก็ขอเลื่อนเข้าพบตำรวจไปเป็นวันที่ 20 มกราคมนี้แทน
ส่วนที่ทำให้ตนเองเป็นกังวล เพราะอีกฝ่ายเป็นผู้มีอิทธิพล มักอ้างว่ารู้จักกับตำรวจและนักการเมือง เคยให้ลูกน้องมาขู่ว่าจะขับรถชนลูกชายของตน จนรู้สึกหวาดกลัว จึงตัดสินใจมาร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งเบื้องต้นทางตำรวจก็ได้รับเรื่องนี้ นำเรียนผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนผ่านมาจนถึงวันนี้ 48 วัน มีประชาชนกว่า 130,000 คน มาลงทะเบียน รวมมูลหนี้กว่า 8,480 ล้านบาท จากเจ้าหนี้ประมาณ 95,000 ราย
โดยจังหวัดที่มีการลงทะเบียนมากที่สุด และมูลหนี้โดยประมาณ คือ กรุงเทพมหานคร ประมาณ 10,000 ราย มูลหนี้ 762 ล้านบาท รองลงมา คือ นครศรีธรรมราช 5,326 ราย มูลหนี้ 350 ล้านบาท, นครราชสีมา 4,820 ราย มูลหนี้ 365 ล้านบาท อันดับที่ 4 คือ สงขลา มูลหนี้ 314 ล้านบาท และอันดับที่ 5 คือ ขอนแก่น มูลหนี้ 270 ล้านบาท
ส่วนจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลงทะเบียน 202 ราย มูลหนี้ 11 ล้านบาท, ระนอง ลงทะเบียน 278 ราย มูลหนี้ 18 ล้านบาท, สมุทรสงคราม ลงทะเบียน 344 ราย มูลหนี้ 10 ล้านบาท เป็นต้น
และจากข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศ พบมีลูกหนี้ที่ผ่านการลงทะเบียนไปถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้วกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนี้ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,644 ราย จากมูลหนี้ก่อนไกล่เกลี่ยกว่า 893 ล้านบาท ช่วยลดลงไปได้กว่า 362 ล้านบาท เหลือ 531 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งจังหวัดที่ทำได้สำเร็จมากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์ ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 105 ราย ลดมูลหนี้ลงไปได้ประมาณ 9 ล้านบาท
ส่วนรายใดที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ ก็มีการส่งไปให้ตำรวจแต่ละพื้นที่ดำเนินคดี ซึ่งตอนนี้ดำเนินคดีไปแล้ว 58 คดี ใน 23 จังหวัด