สื่อสหรัฐฯ คาด ทรัมป์ ชนะลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นรัฐนิวแฮมเชียร์

View icon 89
วันที่ 24 ม.ค. 2567 | 12.44 น.
รอบรั้วรอบโลก
แชร์
หลายสื่อคาด ทรัมป์ จะชนะการลงคะแนนเสียงขั้นต้นในรัฐนิวแฮมเชียร์ ขณะที่ การนับคะแนนผ่านไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซนต์ หลังจากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการลงคะแนนเสียงคอคัส ในรัฐไอโอวา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดหลังปิดการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารี ในรัฐนิวแฮมเชียร์ ที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ นายทรัมป์ ยังคงได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 ด้วยคะแนน 54.3 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยนางนิกกี เฮลีย์ ได้คะแนน 43.7 เปอร์เซนต์ ซึ่งไม่ทิ้งห่างกันมากนัก

โดยขณะนี้ นับคะแนนไปแล้ว 52 เปอร์เซนต์ โดยนางเฮลีย์ กลายเป็นคู่แข่งจากพรรครีพับลิกันเพียงคนเดียวของนายทรัมป์ที่ยังเหลืออยู่ หลังจากนายรอน เดอซานติส เพิ่งประกาศถอนตัวไป โดยสื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า นายทรัมป์ จะได้รับชัยชนะในรัฐนิวแฮมเชียร์เช่นเดียวกับที่รัฐไอโอวา ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกันคนแรก ที่ชนะในการลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นทั้ง 2 รัฐแรก

โดยเมื่อวานนี้ อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เดินทางไปหน่วยลงคะแนนเสียงที่รัฐนิวแฮมเชียร์ เพื่อพบปะและแจกลายเซนต์ให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนที่มารอจำนวนมาก ซึ่งนายทรัมป์เปิดเผยว่า เขารู้สึกมั่นใจมากว่าเขาจะชนะในรัฐนี้

ขณะเดียวกัน นางนิกกี เฮลีย์ ได้ขึ้นปราศัยแสดงความยินดีกับนายทรัมป์ พร้อมประกาศว่าการแข่งขันยังไม่จบและเธอหวังว่าจะเป็นผู้ชนะในการลงคะแนนเสียงครั้งต่อไป ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่รัฐเซาธ์ แคโรไลนา ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของเธอ

ทั้งนี้ หลังจากการลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐเซาธ์แคโรไลนา 3 วัน จะมีการลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐมิชิแกนต่อ ก่อนจะถึงการลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้น ที่เรียกว่า ซูเปอร์ธูสเดย์ (Super Tuesday) ในวันอังคารที่ 5 มีนาคม ซึ่งจะเป็นวันที่รัฐอื่นๆจัดลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นมากที่สุด จนกระทั่ง วันที่ 15-18 กรกฎาคม พรรครีพับลิกันจะจัดการประชุมใหญ่ที่รัฐวิสคอนซิน เพื่อเลือกตัวแทนพรรคเพียงคนเดียว ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับพรรคเดโมแครต ที่มีกำหนดประชุมใหญ่ และเลือกผู้แทนพรรคช่วงวันที่ 19-22 สิงหาคม ที่รัฐอิลลินอยส์
   
ขณะเดียวกัน ทางฝั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน หลายสื่อคาดว่าเขาจะได้รับชัยชนะจากการลงคะแนนเสียงขั้นต้นของรัฐนิวแฮมเชียร์ด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการลงคะแนนแบบไรท์ อิน โวตส (write-in vote)) หรือการลงคะแนนแบบเขียนชื่อบุคคลที่ไม่อยู่บนบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากกฏที่ตั้งขึ้นมาว่า จะไม่มีการใส่ชื่อของประธานาธิบดีลงบนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้น

โดยเมื่อวานนี้ยังเกิดเหตุผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ก่อความวุ่นวายระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ของนายไบเดน ที่รัฐเวอร์จิเนีย ด้วยการตะโกนเรียกร้องให้หยุดยิงในฉนวนกาซา ด้วย