ครูคนเดียวสอนทั้งโรงเรียน วอนกระทรวงศึกษาดูแลเด็กชนบท

ครูคนเดียวสอนทั้งโรงเรียน วอนกระทรวงศึกษาดูแลเด็กชนบท

View icon 195
วันที่ 26 ม.ค. 2567 | 09.39 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ทั้งโรงเรียนมีครูคนเดียว สอนอนุบาล – ป.6 ห่วงพื้นฐานการศึกษา บางวิชาต้องเรียนรวมกันหมด

ครูคนเดียวสอนทั้งโรงเรียน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นใน จ.นครพนม  มีการเผยข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลว่า มีโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 1 ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นโรงเรียนชุมชนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1นครพนม  มีครูผู้สอนเพียงคนเดียว ทั้งโรงเรียน แต่ยังเปิดทำการเรียนการสอน พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ยอมส่งลูกหลานไปเรียนที่อื่น ทั้งที่มีนักเรียนแค่ 19 คน

โรงเรียนบ้านดงโชค เปิดสอนตั้งแต่ อนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนรวม 19 คน  มี นายศุภมาศ กุลตังวัฒนา หรือ ผอ.บอย อายุ 49 ปี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และมีครูผู้ช่วย 1 คน คือ นางสาวธัญลักษณ์ ดีจันทร์ อายุ 23 ปี นอกจากนี้ยังมี พนักงานราชการ อีก 2 คน และพนักงานธุรการ อีก 1 คน โดยทาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 นครพนม ได้ส่งมาทำหน้าที่เป็นครู สนับสนุนการสอน แก้ปัญหาครูขาดแคลน

ปัญหาของโรงเรียน คือ ต้องใช้วิธีการสอนรวม เนื่องจากตามเกณฑ์อัตรากำลัง กระทรวงศึกษา สามารถมีตำแหน่งครู ได้ 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน นอกจากนี้งบประมาณ ต่อหัวนักเรียนได้ปีละ 30,000 บาท ไม่มีสวัสดิการเพิ่มสำหรับครูผู้ช่วย ทำให้ทั้งครู และตัวแทนชาวบ้าน เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาทบทวน ดูแล เพิ่มอัตรากำลัง เนื่องจากไม่สามารถยุบรวมได้ เพราะเป็นโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน ที่ครอบครัวฐานะยากจนได้ศึกษาโรงเรียนในชุมชน

สอบถาม นางสาวธัญลักษณ์ หรือครูฟิน ครูผู้ช่วย  1 เดียวในโรงเรียน เผยว่า สอบบรรจุเข้ามาทำงานเมื่อปลายปี 2566 ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแต่ ไม่เคยท้อภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ครู ยอมรับว่า งานหนัก ต้องหาทางแก้ไข ใช้วิธีการสอนรวมในวิชาพื้นฐาน ที่คล้ายกัน แต่มีบางวิชาที่ห่วงพื้นฐานการศึกษานักเรียน อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ ที่ไม่สามารถจะเรียนรวมกันได้ เพราะพื้นฐานหลักสูตรต่างกัน อย่างไรก็ตามจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ด้าน นายสุนทร ผูนา อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านดงโชค เผยว่า โรงเรียนแห่งนี้ชาวบ้านร่วมกันบริจาคที่ดินก่อสร้าง เริ่มจากปี 2484-2548 มีครูใหญ่ 6 คน จากนั้นเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานที่พ่อแม่มาฝากปู่ย่าตายายเลี้ยง หรือมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ฐานะยากจน มีอาชีพเป็นเกษตรกร ดังนั้นผู้ปกครองจึงนำลูกหลานมาฝากครู ขณะออกไปทำงานรับจ้าง ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนไม่ต้องการให้ยุบรวม ทุกปีหากงบประมาณไม่เพียงพอ ทางโรงเรียนกับชาวบ้าน จะมีการจัดผ้าป่าทำบุญสมทบทุน ช่วยเหลือลูกหลาน วอนรัฐบาลหาทางดูแลช่วยเหลือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง