ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำเกษตรกรทุกคน ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 2567 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล กรณีแปลงปลูกพืชเสียหายจากการประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลัง และได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร 2567 ได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 15 วัน หากเป็นไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 30 วัน และปรับปรุงข้อมูลทุกปีให้เป็นปัจจุบัน สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีเนื้อที่การเพาะปลูกขั้นต่ำแต่ละชนิดไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ โดยเกษตรกรต้องยืนยันว่ามีรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการประกอบการเกษตรตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนดังกล่าวในรอบปีเพาะปลูกนั้น ๆ เกิน 8,000 บาท ขึ้นไป
จำนวนเนื้อที่ขั้นต่ำที่รับขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร
-ข้าว พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น นาเกลือตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
-ผัก สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป
-ปลูกพืชในโรงเรือนตั้งแต่ 72 ตรม. ขึ้นไป
-เพาะเห็ด ทำผักงอก ตั้งแต่ 30 ตร.ม.ขึ้นไป
-ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง อย่างใด อย่างหนึ่ง จำนวนตั้งแต่ 10 รัง ขึ้นไป
-ชันโรง 20 รัง ขึ้นไป
-ครั่ง 5 ต้น (ไม้ยืนต้น) ขึ้นไป
-ไส้เดือน จิ้งหรีด ด้วงสาคู อย่างใด อย่างหนึ่ง ตั้งแต่ 30 ตร.ม. ขึ้นไป
สำหรับเกษตรกรรายใหม่ ติดต่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หรือช่องทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th เมื่อผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการแล้ว เกษตรกรจะสามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรและติดตามผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบได้
ส่วนเกษตรกรรายเดิมและใช้แปลงเดิม สามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ผ่าน แอปพลิเคชัน DOAE Farmbook โดยใช้รหัสทะเบียนเกษตรซึ่งระบุอยู่ในทะเบียนเกษตรกรลงชื่อเข้าใช้งานแอปฯ
การตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น ( ซึ่งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ขึ้นอยู่กับบทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน )
ทะเบียนเกษตรกร คือ ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน วัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อจัดทำข้อมูลการเกษตรให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และเป็นข้อมูลเอกภาพให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ในการนำไปใช้วางแผนพัฒนาการเกษตร กำหนดนโยบาย การจัดการด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย โดยผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว จะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิขอรับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมประชาสัมพันธ์