กล้อง AI ออกฤทธิ์ รถจยย. ขับ-จอด บนทางเท้าลดลง กทม.เผยสั่งปรับเป็นพินัย 281 คน รอชำระค่าปรับกว่า 2 แสนบาท ตั้งเป้าติดกล้อง AI ให้ครบ 100 จุดภายในปีนี้
วันนี้ (7 ก.พ. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และนายปฏิญญา แสงนิล ผู้แทนสำนักเทศกิจ แถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการขับขี่บนทางเท้าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้ลงนาม MOU ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ 13 บริษัทรับ-ส่งอาหารและสินค้า (ไรเดอร์) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงานรับ-ส่งอาหารและสินค้านำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า รวมทั้งนำเทคโนโลยีกล้อง AI เข้ามาใช้ติดตามการกระทำผิดเรื่องการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า ปัจจุบันกล้อง AI มีจำนวน 16 จุด โดยสถิติจากกล้อง AI พบว่ามีผู้ฝ่าฝืนจำนวนลดลง ดังนี้
1. ประเภทไรเดอร์ 13 บริษัท : เดือน พ.ย. 66 พบผู้ฝ่าฝืน 1,525 คน เดือน ธ.ค. 66 พบผู้ฝ่าฝืน 1,149 คน และเดือน ม.ค. 67 พบผู้ฝ่าฝืน 649 คน
2. ประเภทวินจักรยานยนต์รับจ้าง : เดือน พ.ย. 66 พบผู้ฝ่าฝืน 823 คน เดือน ธ.ค. 66 พบผู้ฝ่าฝืน 660 คน และเดือน ม.ค. 67 พบผู้ฝ่าฝืน 308 คน
3. ประเภทประชาชนทั่วไป : เดือน พ.ย. 66 พบผู้ฝ่าฝืน 6,486 คน เดือน ธ.ค. 66 พบผู้ฝ่าฝืน 5,326 คน และเดือน ม.ค. 67 พบผู้ฝ่าฝืน 3,329 คน
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้มีการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจาก 50 สำนักงานเขต ลงพื้นที่กวดขันการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 - ม.ค. 67 พบผู้กระทำผิด 13,644 คน ตักเตือน 1,507 คน เปรียบเทียบปรับ 12,137 คน (ยอดเปรียบเทียบปรับถึงเดือนตุลาคม 2566)
การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ขณะลงพื้นที่ ได้พบปัญหาการฝ่าฝืนในจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยืนกำกับ ผู้ขับขี่มีเจตนาปิดบังป้ายทะเบียน หรือการข่มขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ กทม.เตรียมแก้ไขด้วยการติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับรถวิ่งบนทางเท้าให้ครบ 100 จุด ภายในปี 2567 เพื่อลดปัญหาในส่วนของการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำความผิด และเร่งดำเนินการติดตามผู้ที่ขัดขวาง ต่อสู้ หรือข่มขู่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ กทม. มีแนวคิดที่จะนำ Body-Worn Camera หรือกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เทศกิจเพื่อบันทึกภาพและเสียงขณะที่เจ้าหน้าที่ในขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะได้เพิ่มความโปร่งใส สามารถบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ป้องกันข้อครหาเรื่องการรีดไถรับเงิน รวมทั้งสามารถเป็นหลักฐานกรณีเจ้าหน้าที่โดนข่มขู่
ทั้งนี้ การชําระค่าปรับเป็นพินัย ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. ถึงวันที่ 6 ก.พ. 67 มียอดที่ออกคำาสั่งปรับเป็นพินัยไปแล้ว 281 คน เป็นเงินที่กําลังรอการชำระอยู่ประมาณกว่า 200,000 บาท ส่วนก่อนมีการนำการปรับเป็นพินัยมาใช้ มียอดการจับปรับผู้กระทำความผิด ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ถึง 23 ต.ค. 66 รวมกว่า 9 ล้านบาท