“ปชป.” ตำหนิ “ก้าวไกล” แม้เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่จุดยืนแตกต่าง ยืนยัน ไม่เอื้ออาทรต่อผู้กระทำผิด กรณี “ขบวนเสด็จฯ”
สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์ภาพเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
วันนี้ (12ก.พ.67) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับ “ขบวนเสด็จฯ” ว่า เรื่องการป้องกันและจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย ยังเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการปกป้องดูแลสังคม ให้อยู่กันด้วยความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีหน้าที่โดยตรงต้องมีนโยบายให้ชัด แต่เหตุการณ์ “ขบวนเสด็จฯ” ที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาล เว้นแต่เมื่อวานนี้ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ นายกรัฐมนตรี ควรหยิบยกพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ คณะรัฐมนตรีทุกคนจะต้องมีความรู้สึกกับเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ อยากรู้เช่นกันว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ จะมีการหยิบยกไปพูดคุยกันอย่างเป็นทางการหรือไม่
นายราเมศ ย้ำว่า การทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น แม้พรรคจะเป็นฝ่ายค้านร่วมกันกับพรรคก้าวไกล แต่ได้ย้ำเสมอว่า เราทำงานร่วมกันในสภาฯได้ แต่อุดมการณ์ในหลายเรื่อง เรามีจุดยืนที่แตกต่างกัน การที่มีสมาชิกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สังคมก็รับไม่ได้ต่อแนวคิดที่ยังเอื้ออาทรต่อผู้กระทำผิด อีกทั้งแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลก็ผิดเพี้ยนไปจากหลักความถูกต้อง เพราะยังคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นความจริง เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากจิตสำนึก
ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เก็บข้อมูลเพื่อส่งต่อให้กรรมาธิการที่ทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาเรื่องนิรโทษกรรม เพื่อให้มีการพูดคุยกันในเรื่องคดีที่เกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เพราะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับในส่วนของ สส. ก็จะได้ใช้กลไกในสภาฯ เพื่อพิจารณาในเรื่องมาตรการการป้องกันความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ
ขณะที่ นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตอนนี้คนพรรคก้าวไกลพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า นำประเด็นการเมืองมาคละรวมกับการก่อเหตุก่อกวน ขบวนเสด็จฯ โดยใช้วาทะกรรม “หลักการคนเท่ากัน” “สิทธิและเสรีภาพ” และ “คนรุ่นใหม่” สร้างข้ออ้างให้คนทำผิด ชักนำให้สังคมมองผิดเป็นถูก และ สร้างสภาวะแตกแยกในประเทศ
นางรัดเกล้า ระบุว่า ตราบใดที่คนในการเมืองยังใช้วาทกรรม เพื่อชักแม่น้ำทั้งห้า ชักนำกรอบความคิดสังคมให้หลุดออกจากประเด็นหลัก แล้วเอาประเด็นการเมืองมาผูก เป็นข้ออ้างให้พฤติกรรมผิดกฏหมายลักษณะนี้ เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ และ อย่าอ้างถึงสังคมไทยที่ยังไม่มีพื้นที่ให้คนเห็นต่าง พูดคุยเพื่อหาทางออก เพราะไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้
อีกทั้ง คนกลุ่มนี้ก็ใช้พื้นที่ในการแสดงออกมาตลอด ที่ผ่านมาก็แสดงความคิดเห็นที่ขัดกับกฏหมายแล้วโดนดำเนินคดีมาโดยตลอดนั้น ถือเป็นการใช้พื้นที่ฯ อย่างไม่เหมาะสมมากกว่า ไม่ใช่ประเด็นว่าไม่มีพื้นที่ฯ
และสุดท้าย อย่าใช้คำว่า “นิติสงครามกดปราบผลักไสอีกฝ่ายเป็นคนไม่รักชาติ” เพราะคนไทยทุกคนอยู่ภายใต้กฏหมายเดียวกัน บางกลุ่มเลือกที่จะมีพฤติกรรมที่ผิดกฏหมาย และ ละเมิดสถาบันที่เป็นความมั่นคงของชาติ บางคนทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงถูกดำเนินคดีตามกฏหมายในระดับที่รุนแรง ในขณะที่ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ใต้กฏหมาย ไม่ได้เห็นว่ากฏหมายคืออาวุธที่ใช้ในการทำสงคราม