นายกฯ แถลงแก้หนี้ทั้งระบบ ลั่น ต้องจบในรัฐบาลนี้

View icon 98
วันที่ 13 ก.พ. 2567 | 06.09 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ข่าวต่อไปนี้คนมีหนี้ได้ฟังคงยิ้มออก หลังประกาศให้การแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีแถลงความคืบหน้าล่าสุด พร้อมย้ำชัด ๆ อีกครั้งว่าปัญหาหนี้ต้องจบที่รัฐบาลนี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบหลังประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ในส่วนหนี้นอกระบบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทในการดำเนินคดีอาญาหากเจ้าหนี้มีพฤติการณ์ข่มขู่ใช้ความรุนแรง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินของรัฐ เป็นแหล่งเงินทุน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว

ผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 - 12 กุมภาพันธ์ 2567 มียอดลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 141,351 รายมูลหนี้รวม 9,881.458 ล้านบาท มีลูกหนี้เข้าไกล่เกลี่ยแล้ว 21,810 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 13,141 ราย มูลหนี้ลดลง   675.324 ล้านบาท

ความสำเร็จของการไกล่เกลี่ยหนี้ คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ อย่างไรก็ตาม นายกฯ ระบุว่า จากตัวเลขยังถือว่าหนทางข้างหน้ายังท้าทายมากสำหรับทุกหน่วยงาน และเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อขอเข้าร่วมการแก้หนี้ได้สะดวกมากขึ้น จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้ ซึ่งทราบว่าได้มีการดำเนินการในทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง

สำหรับในส่วนการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ ที่มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิด ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง จับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดมากกว่า 1,300 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท ซึ่ง นายกฯ ย้ำว่า การกวาดล้างเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายจะช่วยปลดปล่อยลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายได้

นายกรัฐมนตรี ยังได้ทิ้งท้ายว่า หากลูกหนี้ท่านใดประสบปัญหาหนี้นอกระบบ สามารถลงทะเบียนขอแก้หนี้นอกระบบได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือ สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนปัญหาหนี้ในระบบขอให้อย่ารอจนตนเองกลายเป็นหนี้เสีย ให้รีบเข้าไปหาสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อขอคำปรึกษา หรือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินเจ้าหนี้มีมาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาของแต่ละท่านที่แตกต่างกัน