สวมผ้าไทย ใส่บาตรข้าวเหนียว ที่ เชียงคาน

สวมผ้าไทย ใส่บาตรข้าวเหนียว ที่ เชียงคาน

View icon 119
วันที่ 17 ก.พ. 2567 | 10.31 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เที่ยวเชียงคาน “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน สวมผ้าไทย ลอยผาสาด ใส่บาตรข้าวเหนียว” พร้อมเปิดวัดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยามค่ำคืน และฟื้นฟูประเพณี “ผาสาดลอยเคราะห์” ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณสืบทอดกันมากว่า 100 ปี 

เช้าวันนี้ (17 ก.พ.67)  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน “สวมผ้าไทย ปูสาด ใส่บาตรข้าวเหนียว” พร้อมร่วมทำบุญใส่บาตรข้าวเหนียว บริเวณถนนชายโขงหน้าวัดศรีคุนเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เดินหน้านโยบาย Soft Power หนุนเชียงคานโมเดล เสริมสร้างอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการศาสนา ได้จัดกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนรอบวัดและศาสนาสถาน ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะได้มีโอกาสร่วมสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เพื่อความเป็นสิริมงคลของชุมชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนอำเภอเชียงคาน เป็นการเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าวัดทำบุญ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา สืบสานวิถีพุทธ เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนรอบวัด เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ผ่านการชมทัศนียภาพของวัด โบราณสถาน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่มีความงดงาม ที่สำคัญ คือ มีการเปิดวัดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่องเที่ยวยามค่ำคืน และฟื้นฟูวิถีชีวิตและประเพณี “ผาสาดลอยเคราะห์” ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณสืบทอดกันมากว่า 100 ปี ตามความเชื่อว่า หากผู้ใดเห็นสิ่งไม่ดี สิ่งไม่เป็นมงคล หรือมีการเจ็บไข้ ประสบเคราะห์กรรม ให้ทำการลอยผาสาด เพื่อเป็นการลอยสิ่งที่ไม่ดีออกไป จะทำให้ชีวิตดีขึ้น มีแต่สิ่งที่ดีๆเข้ามาในชีวิต 

ทั้งนี้ ทั่วประเทศ ชุมชนคุณธรรมพลังบวรในมิติศาสนา มีจำนวน 3,000 แห่ง และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  มีจำนวน 2,845 แห่ง  เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ซ่าปลา กุ้งเสียบ หอยเสียบแม่น้ำโขง มะขามกวน เมี่ยงคำ ผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น ผ้าห่มนวม กระเป๋าผ้าฝ้าย ผ้าพันคอ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เช่น โคมไฟ ดอกไม้จากเกล็ดปลา พวงกุญแจ เป็นต้น โดยใช้ชุมชนคุณธรรมพลังบวรและศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้คู่คุณธรรม เสริมสร้างทักษะใหม่ สร้างสรรค์สินค้าและบริการ และผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อและตลาด เพื่อส่งเสริมอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มพูนรายได้ให้กับครัวเรือน เดือนละประมาณ 17,000 บาท หรือ 200,000 บาทต่อปี ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทย