มข. จ่อฟ้องเวทีนางงาม นำผลงานนักศึกษาไปใช้ในกองประกวด ไม่ขออนุญาต

มข. จ่อฟ้องเวทีนางงาม นำผลงานนักศึกษาไปใช้ในกองประกวด ไม่ขออนุญาต

View icon 85
วันที่ 20 ก.พ. 2567 | 15.05 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ป้องลิขสิทธิ์ มข. จ่อฟ้องเวทีนางงาม ละเมิดลิขสิทธิ์งานวิจัย นำผลงานนักศึกษาไปใช้ในกองประกวด รอบชิงชนะเลิศ ไม่ขออนุญาต 

วันนี้ (20 ก.พ.67) ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่านวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. นำผลงานวิจัยและคลิปบันทึกผลงานชื่อชุด “กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร” (Apsara Thai Traditional Dance) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 รายวิชานาฎศิลป์อีสานและดนตรีพื้นเมือง 2 สาขาหลักสูตรศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ประจำปีการศึกษา 2564 แสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อยืนยันถึงผลงานวิจัยของนักศึกษา และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายเอาผิดกองประกวดนางงามเวทีหนึ่ง ในรอบชิงชนะเลิศ หลังพบมีการนำผลงานดังกล่าวไปใช้ในการประกวดโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของผลงาน คณะ และมหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.พชญ กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำเอกสารหลักฐานงานวิจัย และผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาแล้ว ส่งมอบต่อกองกฎหมายของมหาวิทยาลัย เพื่อหารือและขอคำแนะนำจากคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทุกท่านเห็นด้วยในการรักษาลิขสิทธิ์ของคนไทยและผลงานวิจัยของนักศึกษา ที่ถูกกองประกวดนางงามเวทีหนึ่ง นำเฉพาะเสียงดนตรีและจังหวะดนตรีไปใช้เป็นเพลงประกอบในรอบการประกวดรอบชุดประจำชาติ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา และนำไปใช้จัดทำคลิปของกองประกวดโดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง

การประกวดดังกล่าวเป็นที่จับตามองของคนทั่วทั้งโลก และรอบชิงชนะเลิศ หรือรอบสุดท้ายนั้น พบว่ามีการนำเอาเพลง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นลิขสิทธิ์ของคณะและมหาวิทยาลัยไปใช้งาน ซึ่งผลงานดังกล่าว เจ้าของผลงาน ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะ ได้ร่วมกับเพื่อนเสนอเค้าโครงการงานวิจัยที่เป็นศิลปะของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ โดยคณะอาจารย์ได้ตรวจสอบเค้าโครง และการถ่ายทำทั้งหมด ยืนยันว่าเป็นผลงานของกลุ่มวัฒนธรรมอีสานใต้ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวชื่นชอบปราสาท ชื่นชอบวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ จึงขอทำวิจัยในศิลปะวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศิวะ การดำรงชีวิตของคนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีสานใต้ที่มีต่อขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย จนกลายเป็นผลงานชุด “กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร” (Apsara Thai Traditional Dance)  ในปี 2564 แต่ช่วงนั้นเกิดโควิด การส่งงานจึงทำบันทึกลงเป็นคลิปผ่านเพจและยูทูปของคณะฯ ในชื่อ “นาฎศิลป์สินไซ”

ผศ.ดร.พชญ กล่าวอีกว่า ผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก โดยมียอดชมเกือบ 2 ล้านคน และมีต่างชาติแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของนักศึกษา คณะ และมหาวิทยาลัย กระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ยืนยันว่าเจ้าของผลงาน คณะ และมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการประสานขออนุญาตจากกองประกวดแต่อย่างใด จึงตัดสินใจรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกับกองประกวด ซึ่งขณะนี้ผ่านขั้นตอนของกองกฎหมายมหาวิทยาลัยแล้ว และจะเข้าสู่การยื่นเรื่องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย แต่ด้วยเป็นเรื่องระหว่างประเทศ หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาปกป้องผลงานวิจัยของนักศึกษาที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยในครั้งนี้

“ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษากลุ่มนี้ กำกับและดูแลนักศึกษาด้านศิลปการแสดงและวัฒนธรรม เมื่อผลงานวิจัยของนักศึกษา ถูกนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาต และนำไปใช้ในเวทีระดับโลกเช่นนี้ ก็ต้องออกมาปกป้องและรักษาสิทธิ์ผลงานของนักศึกษา คณะ และมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ก้าวล่วงถึงการอ้างสิทธิ์ศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทย แต่กำลังรักษาผลงานและลิขสิทธิ์ของคนไทยอย่างเต็มที่”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง