สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

View icon 367
วันที่ 22 ก.พ. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 10.32 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการเดินตามรอยเท้าพ่อและมรดกพ่อ ซึ่งสหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง "ศาสตร์พระราชา" ที่ได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจช่วยเหลือสมาชิก

ในการนี้ พระราชทานรางวัลแก่สมาชิกสหกรณ์ดีเด่น และผู้ชนะการประกวดค้นหาสุดยอดความหอมข้าวหอมมะลิของจังหวัดร้อยเอ็ด ปีการผลิต 2566/2567 โดยประเภทสหกรณ์ ได้แก่ สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด และประเภทกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ และศูนย์ข้าวชุมชน ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรทำสวนเมืองทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

สหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2520 สมาชิกแรกตั้ง 176 ครอบครัว ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย 13 ตำบล 175 หมู่บ้าน โดยในปี 2525-2527 ประสบภาวะขาดทุน จึงมีการพิจารณาแผนฟื้นฟู และได้เข้าร่วม "โครงการเสริมสร้างสหกรณ์การเกษตร" จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยทำแผนฟื้นฟู ซึ่งมีเป้าหมาย คือ ให้สมาชิกมีอาชีพและมีรายได้ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ทำให้สหกรณ์กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง

ปัจจุบัน ดำเนินงานตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีการกำหนดแนวทางส่งเสริมและพัฒนากิจการสหกรณ์และสมาชิกให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ มุ่งสร้างเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ที่ผ่านมาได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทสหกรณ์การเกษตรทั่วไป ประจำปี 2549, รางวัลการส่งเสริมการทำบัญชีดีเด่น ประจำปี 2559 ระดับภาค จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 4

ในการนี้ ทรงเยี่ยมสมาชิกสหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด ปัจจุบัน มีสมาชิก 8,910 ครอบครัว 156 กลุ่ม ทั้งหมดประกอบอาชีพทำนาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยปลูกข้าวหอมมะลิ 158,490 ไร่ ในฤดูกาลผลิตข้าวปี 2566/2567 ได้ผลผลิต 86,518 ตัน สมาชิกได้รับเงินปันผลเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจอย่างเป็นธรรม มีการจัดตั้งเงินทุนสาธารณประโยชน์ช่วยเหลือสังคม เป็นมรดกที่พร้อมส่งต่อให้กับสมาชิกรุ่นต่อไป

เวลา 13.11 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริฯ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตของตนและครอบครัวในยุคโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี และมีความปกติสุข โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถพึ่งพาตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น มีกำลังส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน 5 กลุ่ม มีสมาชิกรวม 285 คน แบ่งเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่ปี 2556-2560 ได้แก่ บ้านปอภาร ตำบลปอภาร อำเภอเมือง มีสมาชิก 73 คน, บ้านโพนฮาด ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย มีสมาชิก 88 คน, บ้านผือฮี ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน มีสมาชิก 33 คน, บ้านนานวล ตำบลนานวล อำเภอพนมไพร มีสมาชิก 31 คน และบ้านมะหรี่ ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ มีสมาชิก 60 คน

กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด มีสมาชิกเริ่มต้น 47 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา มีอาชีพเสริม คือ การเลี้ยงโค ไก่ และปลูกพืชผักสวนครัว มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย อาทิ ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และนำมาแปรรูปเป็นแป้งข้าวหอมมะลิ 105 สามารถนำไปทำเป็นวัตถุดิบในการทำขนม เช่น เค้กกล้วยหอม และขนมดอกจอก และทำสบู่, มีการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตร เช่น ทำน้ำสมุนไพร มะนาวน้ำผึ้ง น้ำดอกอัญชัน วุ้นกะทิ, การทำพัดยศด้วยมือ ทั้งยังส่งเสริมให้สมาชิกทำบัญชีครัวเรือน เพื่อวางแผนการใช้จ่าย และสนับสนุนให้รู้จักออมเงิน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีคณะศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยว ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ไปศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป คือ พัฒนาสินค้าเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มมากขึ้น, ปรับปรุงและสร้างอาคารสำหรับทำความสะอาด คัดแยก และบรรจุผลผลิต, รับสมัครสมาชิกใหม่ในชุมชนเพิ่มตามความสมัครใจ และขอรับรองมาตรฐาน อย. สำหรับกิจกรรมการแปรรูป ปัจจุบันมีสมาชิก 88 คน, มีเงินออมของกลุ่มตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน 498,220 บาท, รายได้ครัวเรือนของสมาชิกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 100 และรายจ่ายครัวเรือนลดลงเฉลี่ย 1,500-2,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 50

โอกาสนี้ ทอดพระเนตร "ฐานเรียนรู้การผลิตน้ำหมักชีวภาพ" ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้ในครัวเรือน ผลิตจากเศษพืชผัก และเศษอาหารจากชุมชน เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งเป็นจุดถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรที่มาอบรม และศึกษาดูงาน โดยให้บริการน้ำหมักชีวภาพแก่สมาชิกที่ปลูกผักโดยรอบโครงการฯ

จากนั้น ทอดพระเนตร "ฐานเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ" ส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัว อาทิ คะน้า, พริก, ต้นหอม ที่ใช้กระบวนการดูแล และบำรุงรักษาแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ทั้ง Organic Thailand และ GAP ที่เป็นที่ต้องการของตลาด และมีแหล่งรองรับในการจัดจำหน่าย ทุกกิจกรรมที่ได้ดำเนินการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ข่าวอื่นในหมวด