สมาคมดาราศาสตร์ไทย  ชี้ เกิดดาวตกดวงใหญ่ พุ่งพาดผ่านเหนือท้องฟ้าเมื่อคืนนี้ (4 มี.ค.67)

สมาคมดาราศาสตร์ไทย ชี้ เกิดดาวตกดวงใหญ่ พุ่งพาดผ่านเหนือท้องฟ้าเมื่อคืนนี้ (4 มี.ค.67)

View icon 819
วันที่ 5 มี.ค. 2567 | 07.13 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โซเชียลแห่แชร์ภาพปรากฏการณ์แสงสว่างวาบ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นแสงลักษณะสีเขียว พุ่งพาดผ่านเหนือท้องฟ้าได้จากหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยมองเห็นได้อย่างชัดเจนสร้างความแตกตื่น ล่าสุดสมาคมดาราศาสตร์ไทย สรุปแล้วว่า คือดาวตกดวงใหญ่

ปรากฏการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (4 มี.ค.67) เวลาประมาณ 3 ทุ่ม มีประชาชนจากหลากหลายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลายจังหวัดภาคกลางอย่างที่สมุทรปราการ  ปทุมธานี สระบุรี สมุทรสงคราม ก็บอกว่าเห็นลูกไฟ สีเขียว ลักษณะแสงสว่างวาบ พุ่งทะแยงลงมาจากท้องฟ้า

อย่างไรก็ตาม กล้องหน้ารถยนต์ของผู้สื่อข่าวช่อง 7 HD ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ขณะขับรถมาตามถนนเทพรัตนช่วงกิโลเมตรที่ 27 จู่ๆมีลูกไฟแสงสีเขียว ลอยผ่านหน้ารถเพียงไม่นานแสงก็หายไปบนท้องฟ้า

ด้านสมาคมดาราศาสตร์ไทย โดยนายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า จากภาพที่ปรากฏคล้ายดาวตก แสงสว่างมากมีการแตกของวัตถุเป็นชิ้นเล็กๆ ตามมาด้วย สิ่งที่เป็นไปได้มีสองอย่างคือหนึ่งดาวตกดวงใหญ่ หรือเรียกว่า ลูกไฟได้เพราะสว่างมาก หรือเป็นชิ้นส่วนของยานอวกาศหรือดาวเทียม หรือชิ้นส่วนของจรวดที่ตกลงมา

นายวิมุติ กล่าวว่า การจะพิสูจน์ว่าเป็นแบบหลังหรือไม่ ตรวจสอบได้จากบันทึกการส่งจรวด หรือบันทึกการกลับสู่บรรยากาศ ซึ่งหน่วยงานด้านอวกาศเก็บบันทึกไว้ทั้งหมด เท่าที่ตรวจสอบดู ไม่พบว่ามียานลำไหนหรือการส่งจรวดเกิดขึ้นในวันนี้ในละแวกนี้ จึงเชื่อได้ว่า เป็นดาวตก แม้ว่าลักษณะที่ปรากฏจะคล้ายดาวเทียมตกมาก

ภาพปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นสร้างความแตกตื่นไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจากสหรัฐอย่างนาย Jonathan McDowell ก็สนใจ โดยหลังจากที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์รายหนึ่งโพสต์ข้อมูลลูกไฟที่บนท้องฟ้าประเทศ ได้ไม่นาน นาย Jonathan McDowell ก็ทวิตตอบคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้ระว่า สิ่งที่เห็นคือดาวตกดวงใหญ่ 

ทั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ท้องฟ้าประเทศไทยปรากฏการณ์มีลูกไฟแสงว่างวาบขนาดใหญ่ พุ่งพาดผ่านน่านฟ้า ถ้าหากย้อนไปเมื่อเวลา 20 .40 น. ของวันที่ 2 ต.ค. 58 ก็เคยมีปรากฎการณ์ลักษณะคล้ายกัน แต่ตอนนั้นปรากฏแสงสีเขียว-น้ำเงินพุ่งตกลงมาเป็นแนวยาว โดยตอนนั้นสมาคมดาราศาสตร์ไทย ก็ออกมาอธิบายว่าเป็นดาวตกที่มีความสว่างมาก หรือที่เรียกกันว่า “ไฟร์บอล” ส่วนสาเหตุที่เป็นสีฟ้า และเขียว เพราะองค์ประกอบทางเคมี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง