เมื่อหินอวกาศตกมาจากฟ้า

เมื่อหินอวกาศตกมาจากฟ้า

View icon 71
วันที่ 5 มี.ค. 2567 | 14.42 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ความหมาย ความแตกต่างในการเรียกชื่อ “หินอวกาศที่ตกมาจากฟ้า”

วันนี้  5 มี.ค.67) นายวิมุติ วสะหลาย กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้ความรู้ กรณี “เมื่อหินอวกาศตกมาจากฟ้า” ว่าด้วยความแตกต่างของคำว่า อุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย สะเก็ดดาว ดาวตก ลูกไฟ ฯลฯ ระบุ

ดาวตก ไม่ใช่ดาวที่ตกลงมาจากฟ้า แต่เป็นแสงสว่างวาบที่พุ่งมาเป็นทางจากท้องฟ้า เกิดจากวัตถุแข็งในอวกาศพุ่งฝ่าชั้นบรรยากาศเข้ามาด้วยความเร็วสูง แรงอัดอากาศจากการที่พุ่งปะทะบรรยากาศทำให้เกิดความร้อนสูงจนส่องสว่างขึ้นมา บางครั้งก็เรียก ผีพุ่งไต้ ฉะนั้น ดาวตกกับผีพุ่งไต้จึงเหมือนกัน

ตรง "ไต้" ใน ผีพุ่งไต้ ต้องสะกดด้วยสระไอไม้มลาย เพราะหมายถึงคบไฟที่ใช้จุดให้แสงสว่างเวลากลางคืน คนสมัยนี้คงรู้จักแต่ไฟฉาย ไม่รู้จักไต้กันเสียแล้ว จึงพากันสะกดว่า "ผีพุ่งใต้" กันเสียมากซึ่งไม่ถูกต้อง

ส่วน ลูกไฟ ก็คือดาวตกที่สว่างเป็นพิเศษ โดยทั่วไป มักถือว่าหากดาวตกสว่างมากกว่าดาวศุกร์ช่วงที่สว่างที่สุด ก็จะเรียกว่าเป็นลูกไฟ ดาวศุกร์ช่วงที่สว่างที่สุดมีอันดับความสว่างได้ถึง -4.6 ซึ่งนับว่าสว่างกว่าดาวฤกษ์ทั่วไปมาก

สมมุติว่ามีดาวตกลูกใหญ่ตกเหนือท้องฟ้าขอนแก่นจนคนในท้องที่มองเห็นสว่างจ้าเท่าดาวศุกร์ แน่นอนว่าดาวตกดวงนี้จะต้องเรียกว่าเป็นลูกไฟได้อย่างเต็มปาก แต่ในขณะเดียวกันคนกรุงเทพฯที่มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมองเห็นดาวตกดวงนี้เหมือนกัน แต่เห็นสูงจากขอบฟ้าเพียงประมาณ 15 องศาและมีความสว่างใกล้เคียงกับดาวซิริอัส (อันดับความสว่าง -1.5) ซึ่งเป็นความสว่างระดับดาวตกทั่ว ๆ ไปเท่านั้นเอง ไม่ถึงระดับที่เรียกว่าลูกไฟ หากคนสองจังหวัดนี้อ้างถึงดาวตกดวงนี้ก็อาจสับสนได้ เพราะคนที่หนึ่งบอกเป็นลูกไฟ ส่วนคนอีกที่หนึ่งบอกไม่ใช่ แล้วก็ไม่มีใครผิดด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างเรียกตามลักษณะที่ตนเห็น

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว องค์การอุกกาบาตสากล ได้เสนอนิยามของลูกไฟไว้อีกแบบหนึ่ง โดยระบุว่า ลูกไฟคือดาวตกที่มีอันดับความสว่างปรากฏ -3 หรือสว่างกว่า โดยสมมุติว่าดาวตกนั้นเกิดที่เหนือศีรษะ ตามนิยามนี้ ดาวตกที่มีอันดับความสว่างเพียง -1 ที่ปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้า ก็นับเป็นลูกไฟได้ เพราะการที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า แสดงว่าดาวตกนั้นเกิดขึ้นในระยะไกลมากระดับหลายร้อยกิโลเมตร หากสมมุติว่าผู้สังเกตไปยืนอยู่ใต้จุดดาวตกดวงนั้น ก็จะเห็นดาวตกนั้นเกิดขึ้นเหนือศีรษะและอยู่ห่างจากผู้สังเกตเพียงประมาณ 70-100 กิโลเมตร ย่อมปรากฏสว่างมากกว่าตอนเกิดที่ใกล้ขอบฟ้าอย่างแน่นอน นิยามนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะมองไปที่สมบัติของตัวดาวตกเอง ไม่ได้วัดจากความสว่างที่คนมองเห็น

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่นอนว่าจะใช้นิยามใดเป็นหลัก คำว่าลูกไฟจึงยังคงเป็นคำที่ถูกใช้กันอย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ต่อไป และดูจะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อเกินควร

ส่วนสะเก็ดดาว คือ วัตถุแข็งขนาดเล็กเมื่อยังอยู่ในอวกาศ แต่ถ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาระดับหลายเมตรขึ้นไป ก็เรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย เส้นแบ่งระหว่างสะเก็ดดาวกับดาวเคราะห์น้อยไม่ชัดเจนนัก เพราะยังไม่มีการกำหนดตายตัว บางคนวางเส้นแบ่งไว้ที่ 10 เมตร บางคนวางไว้ที่ 1 เมตร แล้วสื่อต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดกับเส้นแบ่งนี้สักเท่าไหร่ ดังนั้นจะสังเกตว่าเราอาจได้ยินคำเรียกวัตถุที่มีขนาดระดับสี่ห้าเมตรว่าสะเก็ดดาวบ้าง ดาวเคราะห์น้อยบ้าง ปะปนกันไป

ทราบหรือไม่ว่า สะเก็ดดาวที่ทำให้เกิดดาวตกหรือแม้แต่ลูกไฟที่เราเห็นส่วนใหญ่มีขนาดเล็กระดับเม็ดทรายหรือเมล็ดถั่วเท่านั้นเอง เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะถูกการเสียดกร่อนทำให้หายเป็นผุยผงกลางอากาศ แต่หากสะเก็ดดาวมีขนาดใหญ่กว่านั้นก็จะเหลือชิ้นส่วนตกถึงพื้นโลก ส่วนที่ตกถึงพื้นโลกเรียกว่า อุกกาบาต

เหตุใดจึงเรียกหินที่เหลือจากดาวตกว่าอุกกาบาต เรื่องนี้ก็นับว่าแปลกอยู่ เพราะดูจากรากศัพท์แล้ว อุกกา แปลว่าคบไฟ บาต แปลว่าตก อุกกาบาตก็แปลตรงตัวได้ว่าคือคบไฟที่พุ่งตกมาจากฟ้า ซึ่งความหมายน่าจะใกล้เคียงกับคำว่าดาวตกมากกว่า เหตุใดจึงกลายมาเป็นก้อนหินได้ ครั้นจะไปสืบค้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา ก็ไม่ช่วยให้กระจ่างขึ้นสักเท่าใด เพราะพจนานุกรมฉบับนี้ก็ยังอธิบายไว้วกวน ดังนี้

ในนิยามของคำว่าดาวตกอธิบายเหมือนกับที่อธิบายไปข้างต้น และบอกว่ามีความหมายเหมือนผีพุ่งไต้ ในนิยามของคำว่าผีพุ่งไต้บอกว่าเป็นวัตถุแข็งจากอวกาศพุ่งเข้ามาในบรรยากาศจนมีแสงสว่าง และเสริมให้ด้วยว่าถ้าเหลือตกถึงพื้นก็จะเรียกว่าอุกกาบาต แต่พอไปถึงนิยามของคำว่าอุกกาบาต กลับบอกว่าเหมือนกับผีพุ่งไต้  กลายเป็นว่าที่หนึ่งอธิบายว่าดาวตกกับอุกกาบาตไม่เหมือนกัน แต่อีกที่หนึ่งบอกว่าทั้งดาวตก อุกกาบาต และผีพุ่งไต้ มีความหมายเหมือนกัน เรื่องนี้คงต้องฝากทางราชบัณฑิตยสภาให้ปรับปรุงคำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในพจนานุกรมดาราศาสตร์ อังกฤษ-ไทยฯ ฉบับสมาคมดาราศาสตร์ไทยที่วางจำหน่ายอยู่ และพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ของราชบัณฑิตยสภาที่คาดว่าจะวางจำหน่ายในปี 2567 อธิบายไว้ตรงกับที่อธิบายไว้ในบทความนี้

บางครั้ง ดาวตกอาจมีการปะทุสว่างอย่างเฉียบพลัน หรืออาจถึงขั้นเห็นว่าระเบิดจนแตกออกเป็นหลายชิ้น ดาวตกแบบนี้ก็จะยิ่งน่าดู  เรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด มักเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่และมีเนื้อเป็นหิน บางครั้งเมื่อสะเก็ดดาวที่พุ่งเข้ามาเกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดอาจรุนแรงจนชิ้นส่วนกระเด็นไปคนละทิศคนละทางดูน่าแปลกตา เราอาจเคยได้ยินรายงานการพบยูเอฟโอที่ผู้พบเห็นบรรยายว่าเป็น "แสงไฟพุ่งบนฟ้าอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ดาวตกแน่ ๆ เพราะมีการหักมุมเปลี่ยนทิศกะทันหัน" เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาเห็นก็คือดาวตกระเบิดนั่นเอง ไม่ใช่จานบินที่ไหนหรอก

สรุป เมื่อหินก้อนหนึ่งจากอวกาศตกใส่โลก จะเกิดการแปลงร่างเปลี่ยนสภาพไปหลายร่าง ตอนที่ยังอยู่ในอวกาศก็เรียกว่าสะเก็ดดาว ถ้าใหญ่หน่อยก็เรียกดาวเคราะห์น้อย เมื่อพุ่งใส่โลกจะเกิดแสงจ้าลุกโพลงสว่างเป็นทางบนฟ้า ตอนนั้นเรียกว่าดาวตก ถ้าดาวตกนั้นสว่างมากก็เรียกลูกไฟ ถ้าระเบิดด้วยก็เรียกดาวตกชนิดระเบิด หากวัตถุที่พุ่งเข้ามานั้นสลายไปหมดก็จบแค่นั้น แต่ถ้าเหลือเป็นก้อนตกถึงพื้นโลก ก็เรียกส่วนที่เหลือนั้นว่าอุกกาบาต

สะเก็ดดาว – meteoroid วัตถุจำพวกหินแข็งในอวกาศที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์น้อย อาจมีขนาดตั้งแต่เม็ดทรายจนใหญ่เท่าโอ่งน้ำ

ดาวเคราะห์น้อย – asteroid วัตถุขนาดเล็กที่อยู่ในระบบสุริยะชั้นใน มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่สิบเมตรจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

อุกกาบาต – meteorite วัตถุแข็งจากนอกโลกที่ฝ่าบรรยากาศโลกเข้ามาจนตกถึงพื้นดิน อาจเป็นหินหรือโลหะหรือทั้งสองอย่างผสมกันก็ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง