องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ พบการระบาดของโรคซิตตาโคซิส หรือไข้นกแก้ว ครั้งแรกในปี 2566 และต่อเนื่องไปมาจนถึงต้นปีนี้ ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน
โดยโรคไข้นกแก้ว เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรียในตระกูลคลาไมเดีย (Chlamydia) ที่พบในนกและสัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด โดยนกที่ติดเชื้อแม้จะดูไม่ป่วย แต่พวกมันจะปล่อยเชื้อแบคทีเรียออกเมื่อหายใจ หรือถ่ายอุจจาระ ซึ่งตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า มนุษย์จะติดเชื้อไข้นกแก้วได้โดยการหายใจ เอาเชื้อจากสารคัดหลั่งของนกที่ติดเชื้อเข้าไป
แต่โรคนี้ จะไม่แพร่กระจายโดยการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งจากการศึกษา พบว่าการติดต่อจากคนสู่คน มีความเป็นไปได้ แต่พบได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะมาจากการสัมผัสกับนกเลี้ยงในบ้าน หรือนกป่าที่ติดเชื้อ
โดยผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง และจะเริ่มหลังสัมผัสนกป่วย 5-14 วัน ซึ่งอาจมีอาการปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ไอแห้ง มีไข้ และหนาวสั่น ซึ่งยาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้ และแทบไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม โรคไข้นกแก้ว เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปอดบวมได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้