ใช้ยาแก้ปวด NSAIDs ต้องระวัง

ใช้ยาแก้ปวด NSAIDs ต้องระวัง

View icon 282
วันที่ 14 มี.ค. 2567 | 15.15 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สปสช. เตือน ยาแก้ปวด NSAIDs อันตรายต่อไต ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร

วันนี้ (14 มี.ค.67) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ชวนประชาชนตระหนักรู้ถึงภัยของโรคไต เนื่องในวันนี้เป็นวันไตโลก พร้อมย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาระบบบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตสิทธิบัตรทอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและชะลอความเจ็บป่วยของโรคไต

สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มี 4 รูปแบบ คือ

1. การล้างไตทางการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD)
2. การล้างไตทางหน้าท้อง แบบผู้ป่วยทำเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน
3. การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติ (APD) และ
4.การปลูกถ่ายไต

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  สายด่วน สปสช. 1330 และ ช่องทางออนไลน์

นอกจากนี้ สปสช. ยังเผยแพร่บทความ “ยาแก้ปวด NSAIDs อันตรายต่อไต ก่อนใช้ควรระวัง”

65f2b6a2cb4362.36126541.jpg

“ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) มีฤทธิ์แก้ปวดต้านการอักเสบ และลดไข้

ยากลุ่มนี้ เป็น “ยาอันตราย” ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร ตัวอย่างยาที่เห็นกันบ่อย ๆ เช่น แอสไพริน (Aspirin),
ไอบูโรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac), นาพร็อกเซน (Naproxen), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib)

การกินยาในกลุ่มนี้แนะนำให้กินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร       

นอกจากนี้หากใช้ยาในกลุ่มนี้มากเกินไป จะส่งผลให้การไหลเวียนเลือดภายในไตลดลง อาจทำให้เกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันได้ และยาในกลุ่มนี้ยังทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การใช้ยาในระยะยาวจึงนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังได้

การเกิดอันตรายต่อไตขึ้นอยู่กับ

1. ขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา ดังนั้นไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา และใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดตามความจำเป็น

2. ผู้สูงอายุและทารกแรกคลอดมีความเสี่ยงสูง

3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน

4. ผู้ที่อยู่ในภาวะเสียเลือดมากหรือเสียน้ำมาก

5. การใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต

ดังนั้น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น และหากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้เภสัชกรทราบก่อนซื้อยาทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง