สถานที่เที่ยววันสงกรานต์ 2567 ปีนี้กรุงเทพฯ จัดยิ่งใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 21 เม.ย.67 มาดูกันว่ามีกิจกรรมอะไร วันไหน กันบ้าง
วันสงกรานต์ 2567 เล่นน้ำคลายร้อนกันให้ชุ่มฉ่ำ รัฐบาลไทยจัดงานเฉลิมฉลองสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมผลักดันเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลก ตามนโยบายของรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีการจัดสงกรานต์รวม 21 วัน ในวันที่ 1 - 21 เมษายน 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน 2567 จะมีการจัดขบวนพาเหรดสงกรานต์ยิ่งใหญ่ พร้อมนำเสนอความวิจิตรตระการตา สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม ซอฟต์พาวเวอร์ไทย บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวงภายใต้ชื่องานว่า “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” และเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ไฮไลท์จัดงานมหาสงกรานต์ยิ่งใหญ่
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะจัดงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ให้ประชาชนมีส่วนร่วมสืบสานคุณค่าอัตลักษณ์ความงดงามของประเพณี ประกอบด้วย
1. กิจกรรม งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
2. งานนิทรรศการ “สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ระหว่าง 10 – 12 เมษายน 2567 ณ ลานกลางแจ้ง หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ปทุมวัน
3. กิจกรรม “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ระหว่าง 12-15 เมษายน 2567 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร (พิธีเปิด 13 เมษายน 2567 เวลา 14.00 น. ณ พระวิหารหลวง) สรงน้ำพระพุทธรูปและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด การแสดง "ตำนานนางสงกรานต์" โดยแอนโทเนีย โพซิ้ว มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023
กทม.-เครือข่ายวัฒนธรรมกทม.จัดกิจกรรมเพิ่มสีสันสงกรานต์
สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมกทม. จัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ ประกอบด้วย
1) “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็นเป็นสนุก” วันที่ 13-15 เมษายน 2567 ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม.
2) “สงกรานต์ซัมเมอร์ อโลฮ่า ปาร์ตี้” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 10-17 เมษายน 2567 ณ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา กทม.
3) EDM Songkran BAZAAR music Festival 2024 กิจกรรมถนนสายน้ำ วันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ เดอะบาซาร์ รัชดา เขตจตุจักร กทม.
4) “สรวลเสเฮฮา มหาสงกรานต์สยาม” การละเล่นไทย ดนตรีและประเพณีร่วมสมัยในรูปแบบงานวัดจำลอง ณ สวนสยาม เขตคันนายาว กทม.
5) “เพลิดพราว ดาวสงกรานต์ ความงามในตำนาน แห่งถนนสีลม” วันที่ 15-16 เมษายน 2567 ณ ถนนสีลม เขตบางรัก กทม.
ธรรมเนียมปฏิบัติประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง
สำหรับ “ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง” จะจัดขึ้นวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี โดยวันที่ 12 เมษายน ถือว่าเป็นวันจ่าย เพื่อหาซื้อของทำบุญในวันรุ่งขึ้น ในอดีตชาวบ้านนิยมทำขนมกวนจำพวกกวนข้าวเหนียวแดง และกาละแม นำไปถวายพระและแจกจ่ายในช่วงเทศกาล ในอดีตมีข้อปฏิบัติว่า ห้ามตักน้ำ ตำข้าว เก็บผัก หักฟื้น ดังนั้น การงานเหล่านี้จึงต้องทำให้เสร็จก่อนจะถึงวันมหาสงกรานต์ ธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ การทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ ก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ บังสุกุลอัฐิ แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเล่นสาดน้ำ
สงกรานต์ชาวมอญ กทม. - ปริมณฑล
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฯลฯ ที่มีกลุ่มชาวมอญอาศัยอยู่ แบ่งเป็น 3 วัน ได้แก่ วันที่ 12 เมษายน เรียกว่า วันสุกดิบ หรือวันเตรียมสงกรานต์, วันที่ 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ เรียกว่า "วันกรานต์ข้าวแช่” ช่วงเช้ามืดชาวมอญจะนำข้าวแช่ไปวางไว้บนศาลเพียงตาที่จัดทำไว้เพื่อสังเวยรับนางสงกรานต์ เมื่อเสร็จพิธีรับนางสงกรานต์ จึงนำไปถวายพระภิกษุ สามเณร ตามวัดต่างๆ แล้วนำข้าวแช่ไปส่ง เป็นการแสดงความเคารพแก่ญาติผู้ใหญ่ ก่อนมีการละเล่น ลูกช่วง เล่นสะบ้า เป็นต้น, วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา” และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” ธรรมเนียมที่ชาวมอญถือปฏิบัติกัน คือจะประชุมสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ที่วัด บังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษ และขนทรายเข้าวัดไปราดตามถนนหนทาง เชื่อว่าเพื่อให้อายุยืนยาวและเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ อีกทั้งยังมีการค้ำต้นโพธิ์ เชื่อจะมีความร่มเย็นเป็นสุข
ทั้งนี้ เพื่อสร้างสีสันให้เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย กระทรวงวัฒนธรรมขอเชิญสวมใส่เสื้อลายดอก ตลอดเดือนเมษายนนี้ และร่วมกันเพื่อแพร่คุณค่าสาระของประเพณี
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมประชาสัมพันธ์