ประธานศาลฎีกา เปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา แผนกคดีฟอกเงินในศาลแพ่ง ดีเดย์วันนี้ คัดคดีเฉพาะทาง เพื่อความรวดเร็วในกระบวนพิจารณา
ศาลยุติธรรม วันที่ 2 เม.ย.2567 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยนายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายยอดชาย วีระพงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายอมรรัตน์ กริยาผล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และคณะผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลแพ่ง ร่วมพิธีเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง ซึ่งแนวทางการจัดตั้งแผนกคดีใหม่ทั้งสองนับเป็นการดำเนินนโยบายสำคัญประการหนึ่งของประธานศาลฎีกา ข้อ 2 “เที่ยงธรรม” (Fairness) มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการคดี เพื่อสร้างความยุติธรรมที่รวดเร็ว โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพิเศษในกฎหมายแต่ละประเภทคดีปฏิบัติหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชน ด้วยความโปร่งใส ไร้อคติ อันเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพแก่คู่ความและประชาชนทั้งทางแพ่งและอาญา
โดยการจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นไปโดยรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชนจนต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้กระทำผิดนั้นใช้วิธีการที่ซับซ้อน และยังมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายรายเป็นเครือข่ายเพื่อให้ได้ทรัพย์สินและปกปิดอำพรางการกระทำความผิด ดังนั้นการสืบสวนตลอดจนการนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลจึงต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะด้วย ซึ่งประธานศาลฎีกาลงนามประกาศ ก.บ.ศ.จัดตั้งแผนกคดีฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 ต่อมาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
สำหรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะเข้าสู่การพิจารณาคือคดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีความผิดฉ้อโกง กรรโชกหรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยแผนกคดีนี้มีอำนาจพิจารณาพิพาษาคดีที่อยู่ในเขตอำนาจและที่โอนมาตามกฎหมาย เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดียาเสพติด แผนกคดีค้ามนุษย์ และยังให้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย
ส่วนการบริหารจัดการในแผนกคดี ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก 1 คน มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผู้พิพากษาประจำในแผนกทำหน้าที่เป็นองค์คณะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาพิพากษาคดี และช่วยเหลืองานผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกฯ ในการบริหารและดำเนินงานต่าง ๆ ของแผนกให้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วย
ด้านแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้ลงนามเมื่อเดือน ธ.ค.2566 ให้จัดตั้งแผนกคดีฟอกเงินฯ ตามแนวทางที่ศาลแพ่งเสนอโครงการ เพื่อให้การบริหารจัดการคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านความรวดเร็ว ด้านการเก็บรักษาความลับ ด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้สุจริต โดยสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เงินและประโยชน์ที่ได้จากการก่ออาชญากรรมจำนวนมาก สามารถโยกย้ายได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากการถูกนำมาฟอกเพื่อให้เป็นเงินที่ถูกกฎหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล การตั้งบริษัทและธุรกิจบังหน้า มูลนิธิและองค์กรการกุศล อีกทั้งศาลแพ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559 มาตรา 14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่จะใช้มาตรการทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม การจัดตั้งแผนกคดีนี้จึงสอดคล้องและเหมาะสมตามสภาพคดีปัจจุบันที่มีรูปแบบใหม่และความซับซ้อน ตลอดจนภารกิจของศาลแพ่งที่ต้องนำมาตรการทางแพ่งใช้ในการพิจารณาและมีคำสั่งกำหนดรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ไม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธได้ โดยการบริหารจัดการในแผนกจะแต่งตั้งผู้พิพากษา 1 คน เป็นหัวหน้าแผนก ให้มีผู้พิพากษาประจำแผนกแป็นการเฉพาะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน อันเป็นการพัฒนาผู้พิพากษาให้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่รายงานสถิติคดีความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ศาลแพ่งรับใหม่เข้ามาช่วงปี พ.ศ.2566 (ม.ค.- ก.ย.) มี 132 ข้อหา
ทั้งนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งได้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป