สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร

View icon 437
วันที่ 18 เม.ย. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 10.26 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร ทอดพระเนตรผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง และตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร หนึ่งในศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2538 ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม และศิลปาชีพ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 184,000 ไร่ 14 หมู่บ้านในตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง และ 3 หมู่บ้าน ในตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูสีฐาน โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการกิจกรรม และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ อาทิ การพัฒนาด้านป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มุ่งดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง "ให้คนอยู่ร่วมกับป่า โดยไม่ทำลายป่า" กิจกรรมฟื้นฟูสภาพป่า เริ่มปลูกป่าตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบัน รวมกว่า 6,600 ไร่ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียงพอสามารถผันไปยังโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง ตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

งานพัฒนาด้านแหล่งน้ำ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตร ตลอดจนพัฒนาอาชีพ ศิลปาชีพ และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง 7 แห่ง ความจุรวม 26.9 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนรวม 9,405 ไร่ ทั้งนี้ โครงการฯ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยชะนาด โดยการสูบน้ำ แต่ระบบสูบน้ำเดิมมีขนาดเล็ก ทำให้น้ำไม่เพียงพอ กรมชลประทาน จะก่อสร้างสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบท่อส่งน้ำความยาว 1,500 เมตร และก่อสร้างถังพักน้ำ 2 แห่ง เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีน้ำใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพียงพอตลอดทั้งปี

การพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดโครงการจัดอบรมเยาวชนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มเสี่ยง เนื่องจากพื้นที่โครงการฯ เป็นภูเขาสลับที่ราบ และเป็นพื้นที่สีแดง มีความเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การอบรมจึงเน้นให้ความรู้และแนะนำแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด ทำให้กลุ่มเยาวชน รวมกันตั้งชมรม สร้างเครือข่ายแหล่งข่าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ 

การพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ เริ่มจากปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้เกษตรกร ส่งเสริมทำเกษตรผสมผสาน ปรับปรุงคุณภาพดิน ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยสด ปลูกหญ้าแฝก และส่งเสริมเกษตรกรต้นแบบในชุมชน, โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสานแว้-นาโคกกุง จัดกิจกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม และโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน, ด้านปศุสัตว์ ผลิตพันธุ์สัตว์ สุกรเหมยซาน ไก่ไข่ไทย ไก่ดำภูพาน และขยายผลไปสู่เกษตรกร ด้านประมง ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำ และส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาตะเพียนตากแห้ง กลุ่มขยายผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝึกอบรมและส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์พืช พันธุ์ผัก และพันธุ์สัตว์ รวมทั้งจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตรให้เกษตรกรต้นแบบ โดยให้ความรู้และสนับสนุนเกษตรกร พร้อมพัฒนาบทบาทการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน และกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับราษฎร นำผลิตผลตามฤดูกาลมาแปรรูป เช่น พืชสมุนไพร แปรรูปเป็นชา น้ำมันนวด ยาหม่อง หน่อไม้ดอง กล้วยฉาบ ไม้กวาดดอกหญ้าจากต้นแขม ไม้ไผ่ที่ปลูกในไร่ มาสานใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายเข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ถวายพระพรชัยมงคล และพระราชทานพระราชดำรัส เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินโครงการฯ

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงสาธิตเกษตรแบบประณีต ระดับครัวเรือนในพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งมีพื้นที่ 1 ไร่ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้เกษตรกร บุคคลทั่วไป และนักเรียน ที่มีความสนใจ ภายในแปลงฯ มีการสาธิต และทดลองปลูกพืช ผักชนิดต่าง ๆ ตลอดจนโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการทดลองและวิจัย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ อาทิ แปลงสาธิตพืชผักสวนครัว ผักยกแคร่, แปลงพืชไร่, โรงเพาะเห็ด, การเลี้ยงไส้เดือน, การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน, การเลี้ยงสุกรภูพาน กบ และปลาดุก

เกษตรแบบประณีต คือ การทำการเกษตรแบบใช้พื้นที่น้อย มีการดูแลอย่างทั่วถึงและละเอียด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง เนื่องจากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างประณีตและทั่วถึง เป็นการเกษตรแบบเข้าใจธรรมชาติ ใช้พื้นที่ขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไร่ หรือพื้นที่ว่างรอบ ๆ บ้าน ที่สามารถปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนไว้สำหรับบริโภค หากผลผลิตเหลือจากการบริโภค สามารถนำมาจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ในครัวเรือนได้

เวลา 14.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านของนายพงษ์ไพ ศรีพงศ์พยอม อายุ 58 ปี ที่หมู่ที่ 4 ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง เกษตรกรต้นแบบผสมผสานจากการขยายผลของโครงการฯ มีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน ที่ดินทำกินประมาณ 25 ไร่ ซึ่งเดิมทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง ดินที่เพาะปลูกเสื่อมสภาพ ทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอ จึงมีความคิดที่จะพัฒนาอาชีพการเกษตร ในปี 2557 จึงเข้าฝึกอบรมความรู้ และศึกษาดูงานด้านการเกษตรกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และน้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ โดยปลูกไม้ใช้สอยเป็นไม้โตเร็ว เช่น ไผ่ และสะเดา, ปลูกไม้กินได้ ไม้ผล เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ และปลูกไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา รวมทั้งสมุนไพรแซมต้นยางพารา ทำให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ เป็นไม้ใช้สอยนำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียบ เป็นแหล่งอาหารสำหรับครอบครัว, เป็นแหล่งรายได้ โดยปลูกพืชหลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงพืชราคาตกต่ำ และประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ

นอกจากนี้ ยังเลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เลี้ยงหมูหลุม และปลา ทำให้มีอาหารไว้บริโภค และมีผลผลิตทางการเกษตรจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสานเฉลี่ยปีละ 400,000 บาท

ข่าวอื่นในหมวด