พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานรางวัลการแข่งขันมหกรรมกีฬาเรือใบ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567////

View icon 227
วันที่ 20 เม.ย. 2567 | 20.01 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
วานนี้ เวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารอเนกประสงค์ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในการพระราชทานรางวัลการแข่งขันมหกรรมกีฬาเรือใบเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งกองทัพเรือ ร่วมกับ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการแข่งขันฯ ขึ้น จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย การแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว และการแข่งขันเรือใบทางไกล มีการแข่งขัน จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท Overall ระยะทาง 15 ไมล์ และประเภท Optimist ระยะทาง 7 ไมล์

โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทาน รางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง เวคา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วเชิญรางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง เวคาฯ ไปประดิษฐานบนแท่นพิธีฯ

จากนั้น พระราชทานรางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง เวคา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แก่ทีมวายุ ที่ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมทีมฯ เส้นทางอ่าวหน้าโรงแรมรีเจนท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ถึง อ่าวเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 45 ไมล์ทะเล โดยทีมวายุ ใช้เวลาในการแข่งขัน 4 ชั่วโมง 33 นาที
สำหรับการแข่งขันฯ ใช้กติกาการแข่งขันตามมาตรฐานสากล แบบ แต้มต่อ หรือ Handicap ที่ตัดสินตามประเภทของเรือ และอายุของเรือ เป็นต้น

จากนั้น พระราชทานถ้วยรางวัลแก่นางสาวพชรพรรณ องคลอย และนายกัณฑ์ คชาชื่น ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันเรือใบทางไกล ประเภท Overall ระยะทาง 15 ไมล์, พระราชทานถ้วยรางวัลแก่เด็กชายคริษฐ์ พราหมณี ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันเรือใบทางไกล ประเภท Optimist ระยะทาง 7 ไมล์ และพระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่นักกีฬาเรือใบข้ามอ่าว จำนวน 45 คน

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน ทรงสนับสนุน และทรงส่งเสริมกีฬาเรือใบของชาติ เพื่อพัฒนาทักษะนักกีฬาเรือใบของประเทศไทย ให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติได้ อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระราชหฤทัย ที่จะทรงสืบสานกีฬาเรือใบด้วยการทรงร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าวในครั้งนี้ ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬาเรือใบ

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องภูลมโล ทอดพระเนตรนิทรรศการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อพัฒนากีฬาเรือใบของประเทศไทย จัดแสดงเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแล่นใบ รวมทั้งพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบ ซึ่งเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อ เป็นเรือประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อเรือว่า "ราชประแตน" ทรงต่อเรือใบโอเคลำแรกชื่อ "นวฤกษ์" แล้วทรงจัดตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้น คือ หมวดเรือใบหลวงจิตรลดา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และสโมสรเรือราชวรุณที่เมืองพัทยา อีกทั้ง ทรงออกแบบเรือใบ ที่พระราชทานนามว่า เรือมด ซึ่งได้ทรงจดลิขสิทธิ์ที่ประเทศอังกฤษเป็นประเภท INTERNATIONAL MOTH CLASS ต่อมา ทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่ โดยได้พระราชทานนามว่าเรือใบ "ซูเปอร์มด" และเรือใบ "ไมโครมด"

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงถึงการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นการ "สืบสาน" พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงริเริ่มให้มีการแล่นเรือใบข้ามอ่าว อีกทั้งจัดให้มีการแข่งขันเรือใบทางไกล ในหลายประเภท ณ อ่าวสัตหีบ ซึ่งนับว่าเป็นการ "รักษา" แนวทางการพัฒนานักกีฬาที่เคยมีการดำเนินการต่อเนื่องมา ให้ดำรงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ยังจัดให้มีโครงการ "ต่อยอด" โดยสนับสนุนให้เยาวชนอายุ 8 ถึง 15 ปี เข้ามาฝึกกีฬาเรือใบ ซึ่งมีทั้งโครงการในระดับจังหวัด "ชลบุรีเมืองแห่งการแล่นใบ" และโครงการศูนย์ฝึกเยาวชนตามภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ สงขลา และภูเก็ต ทั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของกีฬาแล่นใบไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดกีฬาเรือใบ อันจะเป็นการส่งเสริมกีฬาเรือใบ และปลูกฝังให้เยาวชนไทยหันมาสนใจในกีฬาเรือใบให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ข่าวอื่นในหมวด