หน่วยงานติดตามสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยในวันนี้ว่า ถึงสภาพอากาศแบบสุดขั้วของปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ 41 เปอร์เซ็นต์ของทวีปยุโรปตอนใต้ ต้องเผชิญกับความเครียดจากความร้อนที่รุนแรง และรุนแรงมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป
ทั้งนี้ ความร้อนจัดก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับคนทำงานกลางแจ้ง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะของโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และเบาหวาน
เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อิตาลีเผยรายงานการเสียชีวิตของประชาชนมากกว่าปกติถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงชายวัย 44 ปี ที่กำลังทาสีเครื่องหมายบนถนนในเมืองโลดี ทางตอนเหนือ เกิดล้มลงหมดสติ และเสียชีวิต ทั้งนี้ ความเครียดจากความร้อน เป็นการวัดผลกระทบที่สภาพแวดล้อมมีต่อร่างกายมนุษย์ โดยรวมปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกำหนดค่าอุณหภูมิตามความรู้สึก ขณะที่ พื้นที่บางส่วนของสเปน ฝรั่งเศส อิตาลี และกรีซ ต้องเผชิญกับความเครียดจากความร้อนจัดนานต่อเนื่องถึง 10 วันในปี 2566 ซึ่งหมายถึง ค่าอุณหภูมิตามความรู้สึกมากกว่า 46 องศาเซลเซียส โดยมีรายงานระบุว่า การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในยุโรปช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์
ความร้อนยังทำให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรง รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม โดยที่ในสโลวีเนียเมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 1.5 ล้านคน กรีซเผชิญไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปเป็นประวัติการณ์ เผาผลาญพื้นที่ป่าราว 960 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่ากรุงเอเธนส์ถึง 2 เท่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์สูญเสียปริมาตรที่เหลืออยู่ 10% ในช่วงระหว่างปี 2565 และ 2566
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป เรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมระบบการดูแลสุขภาพสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องให้สหภาพยุโรป ออกกฏเพื่อปกป้องคนทำงานกลางแจ้งจากความร้อนจัด
ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว นับเป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลกนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึก ยุโรปเป็นทวีปที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นปัจจัยหลัก รวมถึงปรากฏการณ์จาก "เอลนิโญ" ด้วย