รวบหมอปลอม อ้างเป็นศัลยแพทย์สมอง ตุ๋นเงินหมอจริง

รวบหมอปลอม อ้างเป็นศัลยแพทย์สมอง ตุ๋นเงินหมอจริง

View icon 346
วันที่ 25 เม.ย. 2567 | 11.58 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอปลอม จบ ม.6 อ้างเป็นศัลยแพทย์ระบบสมอง ตุ๋นเงินบุคลากรทางการแพทย์ สูญนับล้านบาท สร้างเรื่องว่าผ่าตัดคนไข้เสียชีวิต ต้องชดใช้ให้ญาติ

สืบนครบาลได้รับแจ้งเบาะแสขอให้ตรวจสอบพบมีบุคคลแอบอ้างเป็นแพทย์ โดยใช้ชื่อว่าหมอปลา หลอกลวงผู้เสียหายต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตาย ที่ได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิต ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงิน 1,283,620 บาท ซึ่งต่อมาตรวจสอบพบ ว่าบุคคลที่แอบอ้างเป็นหมอ ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับโรงพยาบาล

วานนี้ ( 24 เม.ย.67) ตำรวจ กก.สส.3 สืบนครบาล จับกุมตัว น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลแขวงราชบุรี ที่ จ.52/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ความผิดฐานฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน รือปลอม โดยจับกุมได้ที่บริเวณข้างห้างสรรพสินค้าแห่ง แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพ ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ตลอดข้อกล่าวหา โดยจบ ม. 6 โรงเรียน ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีประวัติการต้องโทษหรือเคยถูกจับมาก่อน

ก่อนหน้านี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่านพญาไท พบผู้ที่ใช้ชื่อว่า สุวรรณอำภา ปลอมบัตรประจำตัวบุคลากรของคณะแพทย์ฯ ซึ่งบัตรประจำตัวที่ปลอมขึ้นมานั้น เป็นบัตรรุ่นเก่าของคณะฯ ซึ่งไม่ได้ใช้แล้วในปัจจุบัน โดยนำบัตรดังกล่าวไปใช้ในการแอบอ้างว่าเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลฯ และนำไปหลอกลวงเอาเงินจากคนไข้และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลฯ หลายคน

ต่อมาตำรวจ สืบนครบาล ได้ตรวจสอบพบ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ได้เพิ่มเพื่อนทางเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย จากนั้น ได้ทักข้อความมาพูดคุยและได้แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์โรงพยาบาล ผู้เสียหายก็พูดคุยกันมาเรื่อย ๆ จนได้คบหากัน โดย น.ส.สุวรรณอำภาจะเดินทางมาหาผู้เสียหายที่ อ.เมืองราชบุรี ทุกสัปดาห์ แล้วก็จะนั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ โดยบอกผู้เสียหายว่าจะไปทำงานที่โรงพยาบาลย่านพญาไท และบางสัปดาห์ผู้เสียหายจะขับรถไปรับที่หน้าโรงพยาบาล แล้วก็ไปส่งด้วย เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่คบหากัน

ในช่วงประมาณเดือนเมษายน 2566 ผู้เสียหายและ น.ส.สุวรรณอำภาฯ ได้เลิกรากัน แต่ น.ส.สุวรรณอำภา ได้มาขอให้ผู้เสียหายหาเงิน 3 แสนบาท โดยอ้างกับผู้เสียหายว่าต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตายที่ตนได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิตลง ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจึงเอาเงินผู้เสียหายโอนให้ไปจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,283,620 บาท ต่อมาผู้เสียหายพบว่า น.ส.สุวรรณอำภา ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับโรงพยาบาลที่อ้างและไม่ได้เป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแต่อย่างใด

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์  ผบก.สส.บช.น กล่าวว่า  การหลอกลวงมีหลายรูปแบบ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายอาชีพต่างๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ และฝากเตือนประชาชนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวง หลอกให้รัก ผ่านการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถึงแม้จะมีการนัดพบเจอทำความรู้จักกันแล้ว แต่มิจฉาชีพยังสามารถมีวิธีการในการหลอกลวงปกปิดตัวตนที่แท้จริง หรืออวดอ้างหน้าที่การงานที่ดี ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียทรัพย์สินมูลค่าสูงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง