เทศบาลนครตรัง ขออนุมัติใช้งบสะสมจ่ายขาด 289 ล้าน ปรับปรุงตกแต่งอาคารศูนย์แสดงศิลปฯ

เทศบาลนครตรัง ขออนุมัติใช้งบสะสมจ่ายขาด 289 ล้าน ปรับปรุงตกแต่งอาคารศูนย์แสดงศิลปฯ

View icon 189
วันที่ 2 พ.ค. 2567 | 12.58 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จับตา! เทศบาลนครตรัง ขออนุมัติใช้งบสะสมจ่ายขาด 289 ล้าน ปรับปรุงตกแต่งอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หลังจากถูกทิ้งร้างมากว่า 10 ปี โดยตั้งงบการก่อสร้างเบื้องต้นครั้งแรกไว้กว่า 400 ล้าน ขณะที่ ป.ป.ช.ตรัง และชมรมตรังต้านโกง จับตาการก่อสร้างและความคุ้มค่าการก่อสร้าง ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับหลังสร้างเสร็จ  

จากกรณีที่ทางเทศบาลนครตรังได้ออกประกาศว่า เตรียมใช้เงินสะสมจ่ายขาด เพื่อดำเนินการก่อสร้าง อาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เทศบาลนครตรังเตรียมใช้เงินสะสม เพื่อดำเนินการก่อสร้าง อาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี

ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง เผยว่า จากการก่อสร้างอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ที่ได้ดำเนินการมา 2 ระยะ ปัจจุบันอาคารดังกล่าวยังใช้ประโยชน์ไม่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เป็นเพียงการก่อสร้างโครงสร้างอาคารเท่านั้น เทศบาลนครตรังจึงได้จัดสรรงบประมาณและได้ว่าจ้างให้บริษัท ดีไว พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาในโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบปรับปรุงตกแต่งอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เพื่อออกแบบปรับปรุงอาคาร พร้อมออกแบบการตกแต่งภายในอาคารและบริเวณโดยรอบพื้นที่อาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม วงเงินงบประมาณ 289,000,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการก่อสร้างในเฟสที่ 3 เทศบาลนครตรังพิจารณาใช้แหล่งงบประมาณจากเงินสะสม จำนวน 289,000,000  บาท ในการก่อสร้างอาคารฯ ประกอบด้วยอาคาร 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นลานจอดรถ สามารถจอดรถได้ 118 คัน ชั้นที่ 2 และ 3 เป็นพื้นที่ใช้งานส่วนบริการอาคาร ประกอบด้วย 1.อุทยานการเรียนรู้ Thailand Knowledge Park หรือ TK Park 2.ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมอเนกประสงค์ 3.ลานกิจกรรม/นิทรรศการหมุนเวียน 4.ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า 5.ศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาค เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ RCE 6.พิพิธภัณฑ์นครตรัง (พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี) และ 7.สำนักงานการศึกษา (ส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม) อย่างไรก็ตามหากมีความคืบหน้าของการก่อสร้างฯจะรายงานให้ทราบต่อไป

ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง ได้ให้ความคิดเห็นว่า การก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่ได้สร้างด้วยงบประมาณเดิม 140 ล้านบาท  สร้างโครงสร้างตัวอาคารใช้งบประมาณไปเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น เป็นโครงสร้างเรียบร้อยทั้งหลังคา ฝาผนัง แต่ปัจจุบันทางเทศบาลนครตรังได้มีการตั้งงบประมาณที่จะมาต่อเติมให้แล้วเสร็จในวงเงินที่กำหนดมาแล้วโดยบริษัทที่ปรึกษารับออกแบบพิจารณาวงเงิน 289 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ทราบว่า เงิน 289 ล้านบาท จะทำอะไรได้มากน้อยแค่ใหน เท่าที่ติดตามข้อมูลว่าจะมีการต่อเติมในส่วนของโครงสร้าง เช่น ติดประตู หน้าต่าง ทาสี วงเงินที่ตั้งไว้เดิมคือ 150 ล้านบาท และมีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียง ไฟฟ้าแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศอีก 150 ล้านบาท  ปรับภูมิทัศน์รอบๆ 50 ล้านบาท  จากกำหนดวงเงินไว้ที่ 350 ล้านบาท แต่บริษัทที่ปรึกษาได้ทำการออกแบบมาใช้วงเงินที่ 289 ล้านบาท และส่งมอบงานการออกแบบมาแล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้เทศบาลนครตรังอยู่ในระหว่างการเตรียมที่จะหาผู้รับเหมามาดำเนินการที่จะใช้วงเงิน 289 ล้านบาทในการต่อเติมในส่วนที่ยังค้างคามาเป็นระยะเวลา 10 ปี ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้คนตรังได้ใช้ประโยชน์

ซึ่งชมรมตรังต้านโกง ร่วมกับ ปปช.ตรัง ธรรมาภิบาลจังหวัดได้ติดตามว่าทางเทศบาลใช้เงินสะสมนั้นเอามาทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนและจะเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวตรังได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร และเมื่อใช้วงเงินไปทั้งหมดประมาณ 400 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วนั้น ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร  ซึ่งมองว่าการก่อสร้างปีนี้คงยังไม่แล้วเสร็จ ถ้าเทศบาลจะดำเนินการประมูลหาผู้รับจ้าง ผู้รับเหมามาดำเนินการต่อคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ซึ่งอาจจะนานพอสมควร น่าจะประมาณปลายปี 68 น่าจะเสร็จในระยะนั้น ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าเงินงบประมาณนี้มีความคุ้มค่าต่อประชาชนหรือไม่แค่ไหน ซึ่งทางผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทางเทศบาลนครตรังว่าการดำเนินการใด ๆ เช่นการเปิดประมูล การประมูล ในงบที่จะต่อเติมก่อสร้างศูนย์ศิลปะฯต้องเชิญคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เจ้าหน้าที่ของ ปปช. ชมรมตรังต้านโกง เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ด

ส่วนทางด้าน นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ตรัง กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เบื้องต้นเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณที่สูงมาก และอยู่ในความสนใจของประชาชนมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทาง ปปช.เองก็เฝ้าติดตามว่าการใช้งบประมาณถูกต้องหรือไม่  โครงการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ได้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการหรือไม่  เมื่อถามว่าการนำงบประมาณเกือบ 300 ล้านบาทเกินงบที่ตั้งไว้เดิมก็ต้องดูรายละเอียดเอกสารหลักฐานอีกทีว่าดำเนินการอย่างไร งบสำรองมีที่มาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ ใช้หลักเกณฑ์อย่างไร และทำไมใช้งบขนาดนั้น ในส่วนที่ทางเทศบาลนครตรังแจ้งว่าปี 67 จะได้ใช้นั้น ถ้าตามที่เจ้าของโครงการเชื่อมั่นก็ต้องติดตามดูว่าทำได้อย่างที่สัญญากับประชาชนหรือไม่  ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุใด ในส่วนที่จะให้ทาง ปปช.เสนอลดงบประมาณลงนั้น ทาง ปปช.เองไม่มีอำนาจในส่วนนี้  ถ้างบประมาณไม่คุ้มค่าก็เป็นหน้าที่ของ สตง. ที่จะต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามการทำงานทาง ปปช.ก็ประสานกับ สตง.อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ได้กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ผู้บริหารชุดก่อน ตนเข้ามาเมื่อปี 64  ตนเองมีความตั้งใจที่จะทำต่อให้เสร็จสิ้น อย่างน้อยที่สุดงบประมาณที่ทำไปแล้ว 100 กว่าล้านมันเป็นเงินภาษีอาการของประชาชน ถ้าไม่ทำต่อก็เป็นอาคารร้างซึ่งมันมองแล้วไม่ดี ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ติดตาม เช่น ปปช. สตง. หรือประชาชน ตนจึงว่าจ้างบริษัทออกแบบปรับปรุงภายในทั้งหมด เพราะมีตัวอาคาร มีหลังคาอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะให้เสร็จสิ้น ซี่งต่อไปทางเทศบาลนครตรังจะได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณจากสภาเทศบาลนครตรังใช้เงินสะสมส่วนหนึ่งในวงเงิน 289 ล้านบาท  ซึ่งในการประมูลจริงแบบ e-bidding ก็อาจจะมีปรับลดลงไป หรือจะมีการปรับแบบ หรือในอนาคตก็ค่อยว่ากันตามกระบวนการของทางพัสดุ ก็ดำเนินการสร้างให้เสร็จสิ้นในสมัยนี้หรือสมัยต่อไปก็แล้วแต่  แต่ถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ต่อไป  ตนอยากทำให้เสร็จสิ้นเพื่อเป็นหน้าตาของพี่น้องชาวตรัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง